วันที่ 1 มีนาคม 2566 ตำรวจกองกํากับการ2 กองบังคับการ4 กองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวไซเบอร์ นํากำลังเข้าจับนางสาวสุปรียา ชมชื่น อายุ 28 ปี ชาวจังหวัดชลบุรี ได้ที่หน้าบ้านพักในตำบลทวีวัฒนา อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี หลังตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดน่าน ในความผิดฐาน “ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดย ประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ผู้เสียหายได้แจ้งความว่า ขณะที่อยู่บ้านพัก ในอำเภอปัว จังหวัดน่าน ได้มีคนร้ายใช้เฟชบุ๊กชื่อ “วินัย” โดยมีภาพโปรไฟล์รูปหน้าของพระวินัย ซึ่งเป็นพระลูกวัดวัดเฟือยลุง อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ส่งข้อความขอยืมเงินจํานวน 12,000 บาท มาทางเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย ด้วยความที่รู้จักกับพระวินัยฯ ดี ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า จึงโอนเงินให้กับคนร้ายไป แต่เมื่อเจอพระวินัย ก็ได้สอบถามว่า ทักเฟซบุ๊กมาขอยืมเงินใช่หรือเปล่า ทางพระวินัยปฏิเสธ จึงรู้ว่าโดนหลอกแล้ว
จากการสอบสวนนางสาวสุปรียาฯ ให้การภาคเสธ โดยรับว่าตนเองเป็นเจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายโอนเข้ามาจริง แต่ตนเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเรื่องที่คนร้ายปลอมเฟซบุ๊กไปหลอกขอยืมเงินจากผู้เสียหาย โดยอ้างว่า ก่อนหน้านี้ตนเองตกงาน จึงสมัครงานในเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่ง ซึ่งแจ้งว่า รับสมัครคนโอนเงินจ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาให้ชาวต่างชาติที่มาซื้อบ้านพักอยู่ในประเทศไทย ตนเองจึงสมัครไปเนื่องจากเห็นว่าเป็นงานที่ทําง่าย และรายได้ดี หลังจากสมัครไปก็ได้มีแอดมินเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวติดต่อมา ให้ตนเองส่งเลขบัญชีธนาคารไปให้ เพื่อให้ชาวต่างชาติโอนเงินค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาเข้ามาที่บัญชี แล้วให้ตนเองไปกดเงินออกมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า โดยได้ค่าจ้างครั้ละ 300 บาท หากวันไหนตนเองโอนเงินช้า แอดมินก็จะโทรมาเร่งโดยข่มขู่ว่า หากตนเองยักยอกเงินจะต้องถูกแจ้งความดําเนินคดี จนกระทั่งมีหมายศาลมาที่บ้านพัก ตนเองเกิดความกลัว จึงหลบหนีมาทํางานที่จังหวัดนนทบุรี กระทั่งถูกจับกุมในที่สุด
ตำรวจเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีผู้เสียหายหลายรายในอำเภอปัว จังหวัดน่าน ถูกคนร้ายรายเดียวกันปลอมเฟซบุ๊กพระวินัย หลอกยืมเงิน // จึงฝากเตือนพี่น้องประชาชนหากมีคนใช้สื่อโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก , ไลน์ ,อินสตาแกรม หรือ ทวิตเตอร์ ทักมาขอยืมเงิน แม้ว่ารูปโปรไฟล์จะเป็นภาพหน้าของคนที่เรารู้จักก็ตาม ให้โทรศัพท์ไปสอบถามบุคคลนั้นก่อนจะโอนเงินให้ เนื่องจากปัจจุบันมีคนร้ายใช้วิธีปลอมสื่อโซเชียลดังกล่าว ก่อเหตุอยู่เป็นประจํา และหากจะสมัครงานที่ใดควรพิจารณาให้รอบคอบ การให้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก หรือบัญชีธนาคาร หรือรหัส OTP กับบุคคลใดที่ไม่รู้จักไป อาจถูกคนร้ายนําไปก่อเหตุหลอกลวงบุคคลอื่นได้
©2018 CK News. All rights reserved.