วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้การอำนวยการ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.อภิชน เจริญผล รอง ผบก.บก.ปอศ., ว่าที่ พ.ต.อ.ธีรภาพ ยั่งยืน ผกก.กก.3 บก.ปอศ., พ.ต.ท.นนทพัทธ์ ยอดแก้ว, พ.ต.ท.ภาสกร นภาโชติ, พ.ต.ท.ชวลิต น้ำใจสัตย์ รอง ผกก.3 บก.ปอศ.เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.วรพจน์ ลลิตจิรกุล สว.กก.3 บก.ปอศ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุม นายอรรถวัต (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา
ที่ 344/2566 ลง 2 ก.พ.66 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันไม่จัดทำและไม่นำส่งงบการเงินประจำปี และไม่จัดทำและนำส่งรายงานประจำปี” โดยจับกุม บริเวณคอนโดแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า นายอรรถวัตฯ ซึ่งมีฐานะเป็นกรรมการของบริษัทแห่งหนึ่ง โดยมีหน้าที่สั่งการหรือกระทำการให้บริษัทดังกล่าว ต้องจัดทำงบการเงินและนำส่งรายงานทางการเงินต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ทางผู้ต้องหาไม่ได้จัดทำและนำส่งรายงานดังกล่าว เป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวได้ทำการฝ่าฝืนข้อบังคับตามกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขเป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งมีโทษปรับมูลค่ารวมกว่า 1.8 ล้านบาท โดยทางพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอศ. ได้มีการออกหมายเรียกไปยังผู้ต้องหาถึง 2 ครั้ง แต่ผู้ต้องหาไม่ได้มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก เป็นเหตุให้มีการยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหาเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจนทราบว่า ผู้ต้องหาได้อาศัยอยู่ที่คอนโดแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ พบตัวผู้ต้องหาอยู่ที่คอนโดดังกล่าวจริง
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าแสดงตัวและจับกุมผู้ต้องหา จากนั้นนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
หลังจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายอรรถวัตฯ เป็นพนักงานบริษัท ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งถูกชักชวนและลวงให้มาเป็นกรรมการบริษัท โดยให้สัญญาว่าจะรับผลประโยชน์มากขึ้น โดยไม่ต้องทำงาน เสมือนเป็นผู้บริหารในนามนอมินี ซึ่งผู้ต้องหาเชื่อผู้ที่มาชักชวน จึงได้เป็นกรรมการบริษัท จำกัด (มหาชน)โดยไม่ได้บริหารงานจริง ผู้ต้องหาจึงไม่ได้ไปทำงานและไม่ทราบหน้าที่ในการบริหารของบริษัท เป็นเหตุให้บริษัทได้ทำการฝ่าฝืนข้อบังคับตามกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งมีโทษปรับรายวันและปัจจุบันได้ตรวจสอบแล้วพบว่าบริษัทฯ ยังฝ่าฝืน และยังไม่ได้ดำเนินการเป็นเวลาหลายเดือนซึ่งมีโทษปรับมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านบาท
©2018 CK News. All rights reserved.