ภาคประชาชน ผลักดันตั้งสมาพันธ์กัญชาไทย"หมอยาเกาะพะงัน หอบจม.ร้อง“ชวน”ขอให้สภาพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา เสร็จทันสมัยประชุมนี้


9 ม.ค. 2566, 11:42

ภาคประชาชน ผลักดันตั้งสมาพันธ์กัญชาไทย"หมอยาเกาะพะงัน หอบจม.ร้อง“ชวน”ขอให้สภาพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา เสร็จทันสมัยประชุมนี้




วันที่ 9 มกราคม 2566 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย ร่วมเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย จัดสัมมนา ในหัวข้อ “เขียนอนาคตกัญชาไทยจากวิชาการและการปฏิบัติจริง” โดยเชิญวิทยากร ซึ่งเป็นนักวิชาการและนักปฏิบัติจริง จำนวน 13 คนมาฉายภาพทิศทางอนาคตกัญชาไทย โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายนิธาน จิตทรวิธรกุล คนหนุ่มรุ่นใหม่ เสนอให้ตั้ง สมาพันธ์กัญชาไทย เพื่อเป็นเครือข่ายร่วยกันพัฒนา โดยอาจจะเริ่มจากแพลตฟอร์มที่ประชาชนเข้าถึงได้ เช่น เฟซบุค ซึ่งควรมีทั้ง แพทย์ ซึ่งเป็นผู้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ คนปลูกที่ใช้ประสบการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ นักพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและประโยชน์ที่หลากหลาย คนขายสามารถช่วยนำกัญชาที่มีคุณภาพออกจำหน่ายได้ คนทำการตลาดก็จะสามารถขยายผลต่อยอดผลิตภัณฑ์กัญชาออกสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้

ด้านนายสฤษดิ์ โชติช่วง และนายสนธยา แซ่โย้ หมอยาเกาะพะงันโมเดล จ.สุราษฎร์ธานี ได้นำจดหมายเรียกร้องของชาวเกาะพะงันกว่าร้อยฉบับ เพื่อเตรียมยื่นให้กับ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอให้มีการพิจารณา พ.ร.บ.กัญชาฯ ให้เสร็จทันในสมัยประชุมนี้ นอกจากนี้ นายสฤษดิ์ ยังได้นำเสนอ “เกาะพะงันโมเดล” ที่ใช้กัญชาเป็นวิถีสืบต่อกันอย่างยาวนาน ในการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยว เกาะพะงันมีนักท่องเที่ยวปีละนับล้านคน นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการรวมสายพันธุ์กัญชาเด่นทั่วประเทศ วิจัยต่อยอดปรุงยาเป็นสูตรตำรับของประเทศไทย เชื่อว่าจะสามารถสร้างเศรษฐกิจได้และมีความมั่นคงทางยา

นายสนธยา กล่าวว่า ในฐานะหมอยาที่ใช้กัญชารักษาคนไข้ให้หายนับหมื่นราย ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จนเป็นแหล่งเรียนรู้ ตั้งแต่การปลูก การใช้ และการรักษาตัว อย่างครบวงจร เพราะกัญชาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และที่เราเหนือกว่าประเทศอื่นคือเรื่องของภูมิปัญญา สามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ และหากจัดระบบการเก็บภาษี ก็จะมีรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นได้

ดร.พิพัฒน์ นนธนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย ได้ ฉายภาพกัญชาทางการแพทย์ ที่มีการตีพิมพ์ในนิตยสารการแพทย์ระดับโลกทั้งในกลุ่มโรคมะเร็งหลายชนิด รวมถึงกลุ่มโรคที่คนเป็นกันมาก เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ นอนไม่หลับ จิตเภท ติดสุราเรื้อรัง ฯลฯ ซึ่งมีผลการวิจัยที่ชัดเจนว่า รักษาได้ ทั้งการวิจัยให้ห้องปฏิบัติการ และหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่รักษากันด้วยหมอยาพื้นบ้านต่าง ๆ ที่ใช้กัญชาในการรักษาโรค

นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ประเทศไทยมีความสามารถพึ่งตนเองด้านยาในระดับที่ต่ำมากต้องนำเข้ายาและผลิตภัณฑ์การแพทย์จากต่างประเทศด้วยมูลค่าที่สูงมาก นอกจากนี้ ค่ายารักษาโรคมะเร็งก็มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่าการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจะสูงถึง 140,000 ล้านบาท เมื่อประเทศไทยแก้กฎหมายให้นำกัญชามาใช้รักษาโรคได้ พบว่ากัญชาช่วยผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น การคืนสิทธิ์ในการปลูกกัญชาให้แก่ประชาชน จึงเป็นเครื่องมือที่จะประกันความมั่นคงทางยาของประชาชน อย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ระบบสุขภาพชุมชนประเทศไทยสามารถสร้างการยอมรับในระดับโลกในช่วงสถานการณ์โควิด เพราะบรรพบุรุษได้สร้างไว้ดี ด้วยการมีสมุนไพร มีภูมิปัญญาที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ กัญชาก็คือภูมิปัญญาที่ถูกสร้างมาอย่างยาวนาน วันนี้สภาจะล่มหรือไม่ล่ม เราไม่ต้องสนใจ เพราะมันเป็นการเมืองไปแล้ว สิ่งที่ประชาชนต้องมาช่วยกันคือ การจัดระบบชุมชนให้เข้าถึงสิทธิในการ ปลูก ใช้ กัญชา ต้องเร่งผลักดันให้ เปลี่ยนเป็นการเมืองเชิงนโยบาย คืนสิทธิการปลูกกัญชาให้กับประชาชน ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงการใช้กัญชา

นายธนโชติ เธียรรุ่งโรจน์ ประธานวิสาหกิจฯเขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว กล่าวว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนเหมือนถูกทอดทิ้ง ถูกลอยแพ เพราะไม่ได้หลอมรวมกัน เติมเต็มความรู้ให้วิสาหกิจเดินต่อไปได้ เราต้องสร้างกฎเกณฑ์ที่ดีให้ประชาชน ต้องปลูกได้ ใช้เป็น และชุมชนมีส่วนนร่วมเพื่อความมั่นคง ยั่งยืนในอนาคตที่จะเดินต่อไปได้ ฝากนักวิจัย ไปวิจัยสายพันธุ์ในท้องถิ่น 1 คน 1 ต้น 1 งานวิจัย คนต้องมีความรู้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะกัญชาแต่ละสายพันธุ์ จะให้ผลต่อสุขภาพต่างกัน การปลูกและการนำไปใช้ต้องฝึกอบรม เพื่อให้เข้าใจว่า กัญชาเป็นยารักษาโรค และเป็นทองคำเขียวของประเทศไทย

นางสาวช่อขวัญ คิตตี้ ช่อผกา กล่าวว่า อยากเห็นการพัฒนามาตรฐานกัญชาไทย เพื่อการจัดระบบที่ถูกต้อง สายพันธุ์กัญชาไทย เป็นสายพันธุ์ที่ดี เราคีวรพัฒนาต่อ เพื่ออนุรักษ์สิ่งที่จะขาดหายไป เราไม่ควรปล่อยให้การสร้างมาตรฐาน ธุรกิจกัญชาไทย โดยกลุ่มที่ไม่ใช่คนไทย เพราะเขาไม่เข้าใจอัตลักษณ์กัญชาไทย

พระครูปัญญาวโรบล วัดภูพร้าว จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า วัดภูพร้าว อยู่ชายแดนประเทศลาว จึงทำให้มีประชาชนที่ไม่อยู่ในระบบการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก และยังมีปัญหายาเสพติดค่อนข้างมาก ปัจจุบัน วัดต้องดูแลคนติดสุราเรื้อรัง , ลมชัก , จิตประสาท และจากประสบการณ์การใช้กัญชาในการรักษา ได้ผลดี ทำให้คนไข้สงบได้ ทั้งที่ก่อนนี้เป็นปัญหามาก ปัจจุบันวัดได้ทำโครงการใน 3 ส่วนคือ 1. ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี เปิดโอกาให้หมอพื้นบ้าน ทำยา มีคลินิกบริการ และมีศูนย์การเรียนรู้ 2. ศักยภาพชาวบ้านสร้างเศรษฐกิจ คือชาวบ้าน อาสาช่วยงาน ปลูกกัญชา และสมุนไพรให้วัด และ 3. ใช้วัดเป็นสถานที่ดูแลจิตวิญญาณ

นายอัครเดช ฉากจินดา ผู้คลุกคลีวงการกัญชากว่า 20 ปี กล่าวว่า กัญชาถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากต่อปี โดยเฉพาะหลังมีการปลดล็อค นักท่องเที่ยวที่ถูกแบล็กลิสต์เพราะมาใช้กัญชาที่ประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน ก็กลับมา นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นนักเที่ยวคุณภาพและมีกำลังจ่าย ปัจจุบันมีกว่าร้อยครอบครัว ที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.กระบี่ และมียอดจองที่พักยาวไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ จะเห็นว่ากัญชาสามารถกระจายรายได้ขึ้นจริง การมีกิจกรรมกัญชาถ้าทำถูกที่ถูกทาง มีพื้นที่ปลอดภัย ธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งร้านอาหาร ห้องพัก จะได้ประโยชน์กันหมด อย่างไรก็ไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ผ่านสภาในสมัยประชุมนี้ เราก็จะไม่หยุดและจะหาช่องทางในการต่อสู้กันต่อไป

นายธนภูดิศ ทองดี หนุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ เป็นคนหนึ่งที่ใช้กัญชาเลิกยาเสพติด กล่าวว่า ตั้งแต่เล็กจนโต ตนใช้ยาเสพติดมาเกือบทุกชนิดมากว่า 10 ปี และมาเลิกได้ด้วยกัญชา เลยขอยกกัญชาว่าเป็น สมุนไพรจากพระพระเจ้า ที่ทำให้กลับมาเป็นผู้เป็นคน และกลับมาทำงานที่มั่นคง จึงอยากให้ทุกคนมีสติ ให้ดูข้อเท็จจริงมาประกอบในการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ใช้กัญชาในเด็ก ยกเว้นเด็กติดยาที่ต้องการเลิก

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกรรมาธิการฯจัดทำร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีการสร้างข่าวให้ร้ายกัญชา ที่ตกเป็นเหยื่อ คิดอะไรไม่ออก ให้กัญาชาเป็นแพะรับบาปไว้ก่อน ซึ่งเมื่อพอสืบต้นตอจะพบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ยิบยกงานวิจัย การใช้กัญชาทางการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งพบว่ากัญชาสามารถใช้ในการรักษาโรคได้หลายกลุ่มโรค และสามารถลดการใช้ยาแผนปัจจุบันกว่า 50% และยังมีหลักฐานระบุชัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ว่า กัญชาเป็นของพ่อบ้านแม่บ้าน ที่ใช้ดูแลตัวเองได้ นอกจากนี้ จึงขอเรียกร้องให้ รัฐสภาควรแสดงความจริงใจโดยการเพิ่มจำนวนวันพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา และขอให้ประชาชน ถอดรายชื่อ ส.ส.ไม่ทำหน้าที่ผู้แทน ทำสภาล่มมาหลายครั้ง และสุดท้ายคือ พูดให้น้อยลงยกมือให้มากขึ้น

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ประธานกมธ.ฯ จัดทำร่าง พ.ร.บ.กัญชา กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร มีเป้าหมายให้ประชาชนได้ประโยชน์ และความปิติ ผู้ตั้งขัง 7,000 คน ที่ปลูก และสูบ ติดคุก ได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำ และอีกนับหมื่นคดีถูกจำหน่ายหมด ถือเป็นกุศลครั้งใหญ่ ใครที่จะเอากัญชาไปเป็นยาเสพติด “ข้ามศพผมไปก่อน” เพราะมันเป็นการเมืองล้วน กฎหมายเหลืออีก 80 มาตราพิจารณาวันเดียวก็เสร็จได้ เพราะเราพิจารณากันมาอย่างเข้มงวดแลว ไม่เห็นชอบไม่ว่า แต่อย่าทำให้มันช้าด้วยความแกล้งโง่ของ ส.ส.หลายคน





คำที่เกี่ยวข้อง : #กัญชา  









©2018 CK News. All rights reserved.