"ประยุทธ์"เปิดประชุมเอเปคอย่างเป็นทางการ หวังผู้นำเขตเศรษฐกิจรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม


19 พ.ย. 2565, 11:27

"ประยุทธ์"เปิดประชุมเอเปคอย่างเป็นทางการ หวังผู้นำเขตเศรษฐกิจรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม




ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้การต้อนรับผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปคที่เข้าร่วมการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 29 โดยมีผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ,นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ,สมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์ที่ 29 และนายกรัฐมนตรี สมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม ซุลตัน ฮาจี โอมาร์ อาลี ไซฟุดดีน ซาอาดุล ไครี วัดดิน บรูไนดารุสซาลาม, นายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรี ออสเตรเลีย ,นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรี แคนาดา และนายกาบริเอล โบริก ฟอนต์ ประธานาธิบดีชิลี

จากนั้น เวลา 09.20 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม และร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อ “การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth)” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ตนและประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคแบบพบหน้ากันครั้งนี้ หลังจากที่เราไม่ได้เจอกันมานานถึง 4 ปี การประชุมของเราในสองวันต่อจากนี้ จะเป็นบทสรุปการหารือในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อร่วมมือกันฟื้นฟูและนำพาภูมิภาคของเราไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น

“สำหรับการหารือในวันนี้ จึงอยากให้พวกเรามาพูดคุยกันว่า เอเปคควรจะทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของการเจริญเดิบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน เรายังคงต้องต่อสู้กับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถูกซ้ำเติมจากความท้าทายของสถานการณ์โลก ที่สำคัญไปกว่านั้น เรายังคงต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการ เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่รวมถึงความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติทั้งหมด เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันบรรเทาผลกระทบและปกป้องโลกของเรา เราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้อีกต่อไป พวกเราต้องปรับมุมมองและเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ มาเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูจากผลกระทบของโควิด-19 และเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาและการเติบโตในระยะยาวที่เข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืนและครอบคลุมเศรษฐกิจบีชีจีผสานแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเข้าด้วยกัน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชีวภาพเกี่ยวข้องกับการผลิตที่เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าที่มาจากทรัพยากร และวัตถุดิบชีวภาพที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดไปเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งให้เกิดระบบการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการแบบฟื้นสร้าง โดยมีการวางแผนตั้งแต่การออกแบบระบบที่ให้ความสำคัญกับการลดขยะและมลพิษ ในขณะเดียวกันก็พยายามใช้วัตถุดิบซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เศรษฐกิจสีเขียวส่งเสริมพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบและแนวคิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งสร้างผลกำไรควบคู่ไปกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แนวทางเศรษฐกิจทั้งสามข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจบีซีจีแตกต่างออกไปคือการตระหนักว่าความท้าทายหลากหลายที่เราประสบอยู่เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและคาบเกี่ยวกัน ดังนั้น การแก้ปัญหาของเราจึงต้องไม่เป็นไปแบบแยกส่วน ด้วยเหตุผลนี้ เศรษฐกิจบีซีจีจึงให้ความสำคัญและผลักดันการใช้สามแนวทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างเป็นองค์รวม เพื่อผลลัพธ์ที่เป็นทวีคูณ และหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่ได้อย่างเสียอย่างการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจึเกิดผลที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และฟื้นคืนความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

“ไทยเชื่อว่าแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจีมีความเป็นสากล ดังนั้น ในวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปค ปี 2565 ไทยจึงนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจบีซีเข้าสู่การพูดคุยกันในกรอบเอเปค เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศ และทำให้ความพยายามของเอเปคในการขับเคลื่อนภูมิภาคไปข้างหน้าตอบสนองต่อความท้าทายเร่งด่วนในปัจจุบัน บนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี ไทยริเริ่มการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจีเพื่อเป็นผลลัพธ์ที่แห่งการจดจำสำหรับผู้นำเอเปคในปี 2565 เป้าหมายกรุงเทพฯ จะเป็นกรอบแนวทางผลักดันวาระด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเปคอย่างชัดเจน พลิกโฉม สมดุล และทะเยอทะยาน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวมุ่งขับเคลื่อนงานภายใต้ 4 เป้าหมาย ได้แก่ 1. สนับสนุนความพยายามเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3. ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ 4.ปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์ ไทยขอบคุณเขตเศรษฐกิจที่ให้การสนับสนุนเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี จนบรรลุฉันทามติด้วยดี ผมคาดหวังว่าพวกเราจะร่วมรับรองเอกสารสำคัญดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะเป็นมรดกสำคัญของเอเปค ปี 2565 เพื่อต่อยอดจากเป้าหมายกรุงเทพฯ

“ผมขอเสนอให้เราหารือกันว่า แนวคิดเศรษฐกิจบีซีจีจะสามารถแปลงวิสัยทัศน์ และทิศทางตามที่ระบุในวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 และแผนปฏิบัติการ อาโอทีอาโรอา ไปสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนสำหรับประชาชนและคนรุ่นหลังของเราได้อย่างไร เอเปคต้องมองไปไกลกว่าการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปสู่การฟื้นสร้างสภาพแวดล้อมให้มีความยืดหยุ่น และเอื้อต่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน ในฐานะกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำและแหล่งบ่มเพาะทางความคิด เอเปคมีทรัพยากรที่จะเร่งสร้างการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพเพื่อประโยชน์ที่มีผลเป็นรูปธรรมแก่ทุกคนในระยะยาวเราจะร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร เพื่อจูงใจภาคธุรกิจให้หันมาดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเราจะส่งเสริมให้ประชาชนของเราปรับมุมมองและเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นผู้บริโภคและพลเมืองของโลกที่มีความรับผิดชอบได้อย่างไร

“ผมได้รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์จากทุกท่าน บทเรียนจากการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเรา ผมยินดีที่พวกเราเห็นพ้องกันว่า เราต้องใช้โอกาสการฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 สร้างความเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล ครอบคลุมและยั่งยืนเอเปคจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืนให้อยู่ในทุกอณูของทุกกลไกการทำงานในเอเปค เป้าหมายกรุงเทพฯ ที่พวกเราจะร่วมกันรับรองในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ย.) จะเป็นเข็มทิศนำทางการดำเนินงานของเอเปคแบบเป็นองค์รวมและมีทิศทางที่ชัดเจน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ตลอดทั้งวันนี้ นายกรัฐมนตรี จะหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปคกับ แขกพิเศษ (APEC Leaders’ Informal Dialogue with Guests) ภายใต้หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับหุ้นส่วน ด้านการค้า” ประกอบด้วยประเทศฝรั่งเศส กัมพูชาและซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้ นายกฯ จะหารือทวิภาคีกับ Ms. Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จากนั้นจะเป็นการหารือระหว่างอาหารกลางวันระหว่างผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค กับแขกพิเศษ (WorkingLunch) ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติเงินเฟ้อ”

ขณะที่ช่วงบ่าย เป็นการการหารือระหว่างผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษา ทางธุรกิจเอเปค หรือ ABAC (เอแบค) โดยช่วงหารือเต็มคณะ ABAC Chair จะนำเสนอรายงานประจำปีต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งนายกฯจะกล่าวตอบเกี่ยวกับความคาดหวัง และแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้าง การเจริญ เติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ต่อด้วยการหารือกลุ่มย่อย แบ่งออกเป็น 5กลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วย ผู้นำ 4 เขต เศรษฐกิจ และผู้แทน ABAC 10 คน โดยแต่ละกลุ่มหารือในหัวข้อ เดียวกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะเดินรับฟังผลสรุปแต่ละกลุ่ม





คำที่เกี่ยวข้อง : #เอเปค  









©2018 CK News. All rights reserved.