เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ก.ย. 65 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่นักกิจกรรมและนักศึกษา รวม 7 คนร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ช่วงระหว่างวันที่ 15-22 ต.ค. 2563
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงดังกล่าว เป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสาเหตุในการประกาศเพียงพอ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจในการสลายการชุมนุม ประกาศปิดสถานที่และระบบขนส่งมวลชน จับกุมประชาชน สื่อมวลชน และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงห้ามการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน
คดีนี้ กลุ่มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฟ้องร้องตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 โดยขอให้ศาลแพ่ง สั่งเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และประกาศที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมชดเชยค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้ง 7 คน คนละ 500,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 3.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับจากวันฟ้อง
ในวันนี้มี น.ส.ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทนาย มารับฟังการอ่านคำพิพากษา โดยศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษา เเละมีคำพิพากษายกฟ้อง
น.ส.ศุกรียา ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง จากการกระทำทั้งหมดจำเลยที่เราฟ้องไป ศาลเห็นว่าเป็นไปตามอำนาจและหน้าที่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ รวมถึงการสลายการชุมนุมในช่วงวันที่ 14-16 ต.ค. 63 ไม่ได้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และสมเหตุสมผล ส่วนการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน ก็เป็นพื้นที่ของบุคคลสำคัญ จึงต้องรักษาความปลอดภัย
“สิ่งที่ควรจะทำทันทีหลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือปล่อยตัวผู้ที่โดนคดีทันที พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างความเป็นธรรม ตนเองยืนยันในความเสียหายที่เกิดขึ้น เราต่างรู้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้มีไว้เพื่อควบคุมโรคแล้ว มีไว้เพื่อควบคุมเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งควรมีมาตรการต่อไปว่าในอนาคตมันจะเป็นอย่างไร” น.ส.ศุกรียา กล่าว
©2018 CK News. All rights reserved.