โอละพ่อ แก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกลูก 10 ขวบโอนเงิน 1.2 ล้าน ที่แท้ลูกซื้อไอเทมเกม ผ่านมือถือ


2 ส.ค. 2565, 12:29

โอละพ่อ แก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกลูก 10 ขวบโอนเงิน 1.2 ล้าน ที่แท้ลูกซื้อไอเทมเกม ผ่านมือถือ




วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีที่นายณรงค์ฤทธิ์ อายุ 49 ปี พ่อค้าปุ๋ย ชาวอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ตรวจสอบ อ้างโดน แก๊งคอลเซนเตอร์ ล้วงเอาข้อมูลบัตรประชาชนจากลูกชาย หลอกให้เด็กสมัครเล่นเกมออนไลน์ เพื่อจะได้คะแนนสูง สุดท้ายโอนเงินไปจำนวน 65 ครั้ง สูญเงินไปกว่า 1.2 ล้านบาท

ล่าสุดพล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ผบช.สอท.) และพล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ฐาปกรณ์ หนุมาศ ผกก.3 บก.สอท.5 เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง

พล.ต.ต.ชรินทร์ เปิดเผยว่า กรณีปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.สอท.5 ตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เชียรใหญ่ ร่วมกันตรวจสอบตามข่าวดังกล่าว โดยได้เชิญนายณรงค์ฤทธิ์ และบุตรชาย อายุ 10 ปี มาเพื่อสอบถามรายละเอียด และตรวจสอบการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนเกิดเหตุ นายณรงค์ฤทธิ์ ได้นำโทรศัพท์มือถือไปให้บุตรชายใช้เรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด

การใช้งานแต่ละครั้ง นายณรงค์ฤทธิ์ ไม่ได้เฝ้าระวัง หรือตรวจสอบการใช้งานของบุตรชายโดยใกล้ชิด บุตรชายของผู้เสียหายได้นำโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวไปใช้ในการสมัครเล่นเกมออนไลน์ และซื้อไอเทมเกมซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet)

พล.ต.ต.ชรินทร์ เปิดเผยอีกว่า จากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า การทำธุรกรรมดังกล่าว เป็นการทำธุรกรรมโดยเจ้าของบัญชีเอง ซึ่งบุตรชายอาจเป็นผู้ดำเนินการเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และนายฤรงค์ฤทธิ์ ไม่ทราบถึงรายละเอียดขั้นตอนดังกล่าวแต่อย่างใด โดยขั้นตอนจะต้องมีการยืนยันตัวตนโดยการถ่ายภาพใบหน้าของนายฤรงค์ฤทธิ์ เพื่อยืนยันข้อมูลในการสมัครเข้าใช้งาน

ในการชำระค่าสินค้าเกี่ยวกับเกมออนไลน์ที่ตรวจพบ แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ 1.เป็นการทำธุรกรรมทางด้านการเติมเงินเพื่อใช้ซื้อไอเทมเกม 2.เป็นการทำธุรกรรมทางด้านการสนับสนุนผู้ทำ Content ผ่านช่องทาง YouTube โดยการทำธุรกรรมแต่ละครั้งเป็นการกระทำผ่านอุปกรณ์ 2 เครื่องด้วยกัน ซึ่งเป็นของนายฤรงค์ฤทธิ์ ที่ได้มอบให้บุตรชายไว้ใช้งาน และจากการตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์มือถือเครื่องดังกล่าว พบว่ามีการใช้งานกับกระเป๋า E-wallet และแอปพลิเคชั่น Mobile banking ซึ่งผูกบัญชีไว้ด้วยกัน

พล.ต.ต.ชรินทร์ เปิดเผยอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ได้ตรวจสอบและอธิบายให้ทราบในรายละเอียดที่เกิดขึ้นดังกล่าว นายฤรงค์ฤทธิ์ ก็ทราบและเข้าใจดีว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบุตรชายของตนไม่ได้ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงแต่อย่างใด แต่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุตรชายตนเองในการใช้บริการอินเตอร์เน็ตและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวอีกว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจึงขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน ที่มีบุตรหลานเป็นเด็กและเยาวชน พึงให้ความใส่ใจและควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของบุตรหลาน อาทิเช่น อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ หรือ Tablet ในการใช้งานเรียนออนไลน์ในช่วงที่เกิดสถานการณ์การเผยแพร่ระบาดของโรค Covid-19 เพื่อให้เป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย





คำที่เกี่ยวข้อง : #หลอกโอนเงิน  









©2018 CK News. All rights reserved.