วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน10 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 65 เป็นต้นไป โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และที่ลุ่มต่ำเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
(กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสรรค์จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,000 – 1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ที่สถานี Ct.19 ปริมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปริมาณน้ำท่าจากลำน้ำสาขาประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 1,450 – 1,550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,000 – 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.50 เมตร ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา
พบว่าช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2565 เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำอาจมีความสูง 1.90 – 2.10 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2565
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้ประสาน 10 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารป้องกันริมแม่น้ำ และเสริมคันกั้นน้ำในบริเวณจุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมน้ำ พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และที่ลุ่มต่ำเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
©2018 CK News. All rights reserved.