มาร์ค พร้อมร่วมพลังประชารัฐ แต่ต้องไม่มีประยุทธ์ สืบทอดอำนาจ


11 มี.ค. 2562, 16:15

มาร์ค พร้อมร่วมพลังประชารัฐ แต่ต้องไม่มีประยุทธ์ สืบทอดอำนาจ




วันที่ 11 มี.ค. 62 ที่อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชั้น 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมแกนนำพรรค แถลงจุดยืนว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืน จะขอตอบคำถามประชาชนที่รวบรวมมาจากช่องทางต่างๆ คือ 5 ประเด็นหลัก

ประเด็นที่ 1 มีการสอบถามว่า อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ทำไมจึงจะต้องมาพูดเรื่องนี้

ประเด็นที่ 3 ทำไมจึงมาพูดตอนนี้ และการพูดอย่างนี้จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง การแบ่งขั้วหรือไม่

ประเด็นที่ 4 เมื่อแสดงจุดยืนอย่างนี้ หลังการเลือกตั้งจะมีการจัดตั้งรัฐบาลกันได้หรือไม่ อย่างไร จะร่วมกับใครบ้าง

ประเด็นที่ 5 ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว ไม่กลัวหรือว่าจะเกิดปัญหาความวุ่นวาย ความขัดแย้ง แล้วก็ไม่มีใครที่จะมาแก้ปัญหาเอาสถานการณ์นี้อยู่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ผมขอไล่เรียงไปเลย ประเด็นแรก การพูดของผมนั้นเป็นการพูดในฐานะหัวหน้าพรรค และเป็นไปตามอุดมการณ์พรรค เพราะฉะนั้นไม่ควรจะมีคำถามว่าเป็นจุดยืนของพรรคหรือไม่ แน่นอนถ้าไปดูข้อบังคับ หรือไปดูตามกลไกการทำงานเรื่องนี้ในที่สุดมันก็ต้องมีมติพรรค แต่โดยสถานการณ์ โดยข้อบังคับ มติพรรคเรื่องนี้มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จนกว่าการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว แต่ผมยืนยันว่าการพูดเมื่อวานนี้คือจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคประชาธิปัตย์คงไม่อาจจะมีจุดยืนที่ขัดกับอุดมการณ์ของตัวเองที่ประกาศไว้เมื่อ 70 กว่าปีที่แล้วได้

ประเด็นที่ 2 ทำไมถึงพูดเรื่องนี้ ก็ขอตอบ 2 ประเด็น ประเด็นแรกอย่างที่พูดไปแล้วคือเป็นการย้ำอุดมการณ์ของพรรคฯ กับประเด็นที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์ต้องการทำงานการเมืองแบบตรงไปตรงมา เราคิดว่าเป็นสิทธิ์ของผู้เลือกตั้งที่จะได้ทราบจุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ใช่ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไปสนับสนุนพรรคการเมืองใด บนความเข้าใจแบบหนึ่ง และสุดท้ายเมื่อพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งเข้าไปแล้ว กลับไม่ได้ทำตามที่เขาเข้าใจ หรือที่เขาคิด เพราะฉะนั้นสำหรับผมนี่คือการเมืองที่เราต้องการให้เกิดขึ้น คือการเมืองที่ตรงไปตรงมา ถ้าสิ่งที่ผมประกาศจะมีผลทำให้เสียคะแนน ผมก็ยินดี เพราะผมคิดว่ามันเป็นความเป็นธรรมสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งสำคัญกว่า

คำถามถัดมาก็คือทำไมจึงประกาศตอนนี้ และการประกาศแบบนี้ไม่เป็นเรื่องของการนำทุกอย่างเข้าไปสู่วังวนของความขัดแย้งหรือ ก็ขอตอบว่า ผมและพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมานานแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนมี 3 ทางเลือก ซึ่งมีจุดยืน มีแนวความคิดที่แตกต่างกันชัดเจน ที่ผ่านมาเราไม่ได้อยากพูดเรื่องนี้พวกนี้ เพราะเราคิดว่า

1. เราก็มีความชัดเจนอยู่ในตัว ตั้งแต่วันที่ผมหาเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ผมก็พูดจุดยืนเหล่านี้ชัดเจนแล้วก็ได้รับฉันทามติมาจากสมาชิกพรรคอยู่แล้ว และการที่ผมให้สัมภาษณ์ทุกครั้ง ก็อยู่บนหลักการนี้มาตลอด แล้วก็เลยต้องการให้การเลือกตั้งนี้ได้มีการนำเสนอและแข่งขันกันในเรื่องของนโยบายเป็นหลัก แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ในเวทีต่างๆ ที่องค์กร หรือสื่อมวลชนจัด กลับกลายเป็นว่าพรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายอยู่เพียงไม่กี่นาที แล้วสุดท้ายก็วนเวียนกลับมาอยู่ในเรื่องแบบนี้ แล้วก็พยายามที่จะซักกันว่าแต่ละพรรคนั้นมีจุดยืนอย่างไร

สุดท้ายประชาชนเสียโอกาสไปเยอะ ในการที่จะได้รับรู้รับทราบ แล้วก็เปรียบเทียบนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ผมจึงต้องการแสดงความชัดเจนตรงนี้ จะได้ไม่ต้องถามกันอีก จะได้ถึงเวลาที่ไปดูกันว่า ใครมีความพร้อมในเรื่องนโยบายที่จะแก้ปัญหาใหญ่ๆ ที่อยู่ในใจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้อง หรือการที่จะพัฒนาบ้านเมือง หรือเศรษฐกิจต่อไป

เรื่องนี้ไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งอะไรเพิ่มเติม เพราะจุดยืนทางการเมืองที่มีความแตกต่างกันนั้นเป็นเรื่องปกติ และเมื่อเรายืนยันถึง 3 ทางเลือก มันไม่มีการบังคับให้เลือกข้างบนตัวบุคคลอีกต่อไป เพราะว่าอนาคตของประเทศ เพราะว่าการตัดสินใจของประชาชน และประโยชน์ของประชาชนมันเกินเลยเรื่องตัวบุคคล ประชาธิปัตย์ก็ยังยืนยันครับว่า ไม่สนใจในการที่จะไปบีบบังคับว่าต้องเลือกข้างที่เกี่ยวข้องกับคุณประยุทธ์ หรือคุณทักษิณ แล้ววันนี้เมื่อมันชัดว่ามันมี 3 แนวทางอย่างนี้ ก็ไม่ต้องถามในเรื่องเหล่านี้อีกต่อไป

ประเด็นที่ 4 ถ้าเป็นอย่างนี้ การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร กับใคร ผมได้ยืนยันไปแล้วว่าเรื่องสำคัญที่สุดของการเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนี้เรามุ่งสู่การเป็นแกนนำรัฐบาล ไม่ใช่การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เราจะต้องจัดตั้งรัฐบาลบนพื้นฐานของอุดมการณ์ และนโยบาย และสิ่งที่ผมแสดงเป็นจุดยืนออกไป 2 ครั้ง ก็ชัดเจนว่าเราจะตั้งรัฐบาลที่ไม่มีการทุจริต และไม่มีการสืบทอดอำนาจ

ส่วนการประกาศเช่นนี้ แล้วจะมีพรรคการเมืองใดบ้าง ส่วนหนึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องดูผลการเลือกตั้ง แต่หลักการนี้คือหลักการที่ผมยึดถือแน่นอน และในฐานะที่ประกาศตัวจะเป็นแกนนำรัฐบาล และเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผมยืนยันว่าผมไม่ยอมที่จะเอาใครมาร่วม แล้วทำให้รัฐบาลนั้นทุจริต หรือสืบทอดอำนาจ

ผมทราบดีว่าประกาศอย่างนี้ก็มีปฏิกิริยาจากอีก 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็พยายามกลับไปสู่วาทกรรมเดิม หรือการสร้างการบังคับการเลือกข้างเดิมที่ทำนองว่า ถ้าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แปลว่าจะต้องไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย เมื่อวานเข้าใจว่าก็มีการปราศรัยทำนองนี้กันอยู่ จากพรรคพลังประชารัฐ ก็ผมก็บอก ก็กลับไปดูคลิปแรกสิครับ ผมก็ชัดเจนอยู่แล้ว และเงื่อนไขที่ผมพูดมาตลอดเกี่ยวกับปัญหาของการร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ก็คือตราบเท่าที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถออกมาจากการครอบงำของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีผลประโยชน์ที่ขัดกับผลประโยชน์ของประเทศ ประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถที่จะร่วมงานด้วยได้ และถึงนาทีนี้ ผมก็ยังไม่เห็นสัญญาณอะไรของความเปลี่ยนแปลงในการทำงานทางการเมืองของกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นเครือข่ายนี้

อีกด้านหนึ่งผมก็ไม่ไปตกหลุมพรางของเครือข่ายของพรรคคุณทักษิณหรอกครับ ที่พยายามจะบีบเพื่อที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ มีความพยายามที่จะต้องมาถามต่ออีก เป็นเงื่อนไขใหม่นะครับ ตกลงร่วมกับพรรคพลังประชารัฐได้หรือไม่ ผมก็ตอบ ผมว่าชัดนะ ว่าถ้าพรรคพลังประชารัฐยังคิดสืบทอดอำนาจ ประชาธิปัตย์ก็ไม่ร่วมด้วย ผมยังแปลกใจว่า พอตอบอย่างนี้ ก็มีกองเชียร์ที่บอกว่า ตอบไม่ได้ ตอบไม่ชัด ผมก็ขออนุญาตเปรียบเทียบกับคำตอบที่พรรคอนาคตใหม่ขึ้นเวทีดีเบตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อถูกถามว่าจะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐได้ไหม พรรคอนาคตใหม่ตอบว่า ถ้าพลังประชารัฐจะบอกว่า โอเค เราก็ไม่เอาแล้วสืบทอดอำนาจ คสช. ไม่เอาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เรายังร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐได้เลย ทำไมเวลาผมพูดบอกไม่ตอบ ทำไมเวลาผมพูดบอกว่ากั๊ก ถ้าเป็นเช่นนั้นผมก็มีอนาคตใหม่เป็นเพื่อนเพราะเป็นคำตอบเดียวกัน บนเวทีดีเบต เพราะฉะนั้นผมยืนยันนะครับวันนี้ประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แล้วทุกคนมั่นใจได้ครับว่า จากคลิปทั้ง 2 ตัวที่ประกาศนี้ เป้าหมายของเราคือการนำไปสู่การมีรัฐบาลที่ไม่ทุจริต และไม่สืบทอดอำนาจ

ประเด็นสุดท้าย ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์แล้ว บ้านเมืองจะวุ่นวายมั้ย สถานการณ์ของการเลือกตั้ง ก็ชอบไปถามกันว่าจะเอาอยู่มั้ย ผมเรียนอย่างนี้ครับว่า สถานการณ์วันนี้หลังจากที่คนไทยทั้งประเทศ ผ่านประสบการณ์ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมว่าเกือบทุกฝ่ายเรียนรู้แล้ว ยืนยันแล้ว และเกือบทุกคนยืนยันว่าไม่ต้องการให้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวาย ผมเองก็เรียนรู้ แล้วก็มีประสบการณ์จากการทำงานครั้งที่ผ่านมา ก็รู้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางในการที่จะจัดการกับปัญหาในกรณีที่มีความพยายามจะก่อให้เกิดความวุ่นวายอย่างไร และผมก็ประกาศชัดไปแล้วว่า ผมไม่เกรงใจใคร

นอกจากนั้นผมมั่นใจว่า ผู้ที่มีความรับผิดชอบ เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในปัจจุบัน คือฝ่ายประจำทุกคน มีความพร้อมที่จะช่วยทำงานให้การรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ให้เกิดความวุ่นวายลุล่วงไปได้ด้วยดี การผูกความสงบเรียบร้อยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเข้าใจนะครับว่า หลังการเลือกตั้งไม่มีมาตรา 44 แล้ว ไม่สามารถใช้เครื่องมือ เครื่องไม้ที่มีอยู่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าใครก็ตามจะเป็นนายกรัฐมนตรี ผมออกมาประกาศไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ผมไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวกับท่านเลย ผมค่อนข้างที่จะมีความผูกพันกับท่านด้วยซ้ำเพราะทำงานมาด้วยกันในช่วงที่ยากลำบาก แล้วก็ขอบคุณท่านเสมอในงานที่ท่านช่วยทำ แก้ปัญหาในช่วงที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี

รวมทั้งใน 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าหลายเรื่องผมไม่เห็นด้วยกับท่าน ผมก็เชื่อว่าพี่น้องประชาชนจำนวนมากก็ขอบคุณที่ท่าน ในการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่ได้ปฏิเสธตรงนั้นครับ แต่วันนี้ถ้าคิดถึงเรื่องความขัดแย้ง ความวุ่นวาย การตัดสินใจของผมต้องอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศในอนาคต และในระยะยาว ไม่สามารถเอาเรื่องส่วนตัว หรือความผูกพันส่วนตัวมาเกี่ยวข้องได้

ผมยืนยันว่าความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากที่สุดคือการสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จึงกลายเป็นศูนย์กลางของเงื่อนไขความขัดแย้งที่ง่ายที่สุดหลังการการเลือกตั้ง นั่นคือเหตุผลที่ผมบอกว่าไม่สนับสนุนท่านเพราะการสืบทอดอำนาจคือความขัดแย้งในอนาคต

และการที่จะต้องบริหารจัดการประเทศต่อไป สิ่งที่จะต้องเอาอยู่ให้ได้เป็นเรื่องแรกเลยก็คือฝ่ายการเมือง วันนี้น่าเป็นห่วงเพราะว่าเส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ พึ่งพาอยู่กับพรรคการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดแล้วว่าขณะนี้ท่านเองไม่สามารถที่จะควบคุมให้อยู่ในแนวทางของท่านได้ สปก.ทองคำ นโยบายข้าว หลายสิ่งที่ท่านเคยพูดว่า ไม่ควรทำ ทำไม่ได้ แต่วันนี้ท่านกลับต้องพึ่งกลุ่มผู้คนเหล่านี้ ที่ยังยืนยันในการนำเสนอหลายสิ่งหลายอย่างที่ขัดกับความเชื่อหรือจุดยืนของท่าน

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมประกาศไปเมื่อวานนี้เป็นเรื่องที่ต้องการให้พี่น้องประชาชนเห็นว่า สุดท้ายการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องกลับมาสู่การเลือกอนาคตของประเทศ แข่งขันกันด้วยเรื่องของวิสัยทัศน์ นโยบายกันต่อไป ไม่ใช่เอาเงื่อนไขของตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 2 คนนี้ มาเป็นตัวครอบงำ บีบบังคับให้เลือกข้าง โดยไม่คำนึงว่าอนาคตวันข้างหน้า ประเทศไทย สังคมไทย และเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร

เมื่อได้อธิบายทั้งหมดนี้แล้ว ผมก็จะได้เดินหน้าใน 10 กว่าวันที่เหลือ ใช้เวลาในการบอกกล่าวกับประชาชนว่าประชาธิปัตย์จะมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องจะบริหารประเทศไปสู่อนาคตที่เป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจ และสังคมไทยอย่างไร และไม่ให้เกิดความวุ่นวายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผมว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่จะต้องไปตัดสินอนาคตตัวเขาเองในวันที่ 24 มีนา



ช่วงถามตอบสื่อ

มีคำถามว่าอาจเกิดเงื่อนไขว่า พรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะไปอยู่ในส่วนไหน จะเป็นฝ่ายค้านเลยมั้ย

“ก็ตอบแล้วไงครับ ไม่สนับสนุนคนโกงมานำประเทศ และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครับ ชัดเจน”

ถ้าสมมติว่า 2 ฝั่งนี้ มีคะแนนเสียงมากพอที่จะเป็นแกนนำรัฐบาล แล้วประชาธิปัตย์จะอยู่ฝั่งไหน

“ก็ไม่ร่วม ก็ไม่ร่วม ก็เป็นฝ่ายค้าน”

ดูจากผลของการตอบรับ และการประกาศจุดยืนนี้ มั่นใจว่าวิธีการที่เราจะนำพาพรรคฯ ไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยที่ไม่ร่วมกับ 2 พรรคนี้อย่างไร

“ประชาธิปัตย์เดินหน้าในการนำเสนอว่า เราจะแก้ไขปัญหาประเทศอย่างไร แล้วก็ขอคะแนนเสียง ซึ่งการเดินทางพบปะพี่น้องประชาชนทั่วประเทศในขณะนี้ก็ได้รับการตอบรับอย่างดี และส่วนใหญ่ถ้ายังมีปัญหาในเรื่องของการตอบรับเรา ก็จะถามคำถามที่ผมได้สร้างความชัดเจนไปแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ผมว่า ประชาชนก็ทราบชัดๆ แล้วว่า เลือกประชาธิปัตย์แล้วได้อะไร”

กระแสโซเชียลมีเดีย พรรคประชาธิปัตย์มักจะถูกบางพวกโจมตี อาจจะมองได้ว่าทำโดยปัจเจก หรือมีขบวนการ จะรับมืออย่างไร

“มันก็มีทั้งขาประจำ มีทั้งคนที่เขามีความคิดที่แตกต่าง ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไม่มีปัญหากับพวกนี้ไงครับ เราถึงบอกว่า พรรคที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่คิดต่างก็ไปไล่คุกคาม ไม่ให้เขาพูด ไม่ใช่คิดต่างก็ประนามเขาอย่างเดียว บังคับให้คนบอกว่าถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับผม แปลว่าคุณต้องเลว คุณต้องมีผลประโยชน์ทับซ้อน คุณจะต้องเป็นอะไรต่อมิอะไร นี่คือการพิสูจน์ว่า ถ้าคุณเชื่อเรื่องประชาธิปไตย คุณต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ แล้วผมก็ยินดีนะครับ การวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างพวกผมก็ประมวลมา แล้วก็มาชี้แจง มาตอบด้วยเหตุด้วยผล”

ในกระแสข่าวที่เกิดขึ้น มักจะพูดกันว่า เลือกซีกฟากเผด็จการ ฟากพลังประชารัฐ กับซีกพรรคการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นซีกที่ 3

“เราเป็นพรรคภาคประชาธิปไตยสุจริต ก็ชัดอยู่แล้ว ประชาธิปไตยสุจริต ก็อยู่ฝั่งประชาธิปไตยครับ แต่ต้องสุจริต และผมก็ยืนยันว่าประชาธิปไตยสุจริตนี้ มีความหมาย มีความสำคัญ และผมก็อยากจะเตือนว่า ถ้ายังไปเชื่อคนที่บอกว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาทกรรม ประเทศจะกลับมาวิกฤติแน่นอน”

ดูจากการใช้บัตรใบเดียวลงคะแนน แล้วสะท้อน 3 ส่วน โอกาสที่พรรคใดจะชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมันยาก การที่ประชาธิปัตย์ประกาศไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ

“ผมบอกว่าไม่เป็นพรรคร่วมนะ ผมเป็นแกนนำ ผมมีสิทธิ์เลือก”

แต่ถ้าคะแนนเราไม่พอ เท่ากับเรายอมสภาพเป็นฝ่ายค้านทันทีเหรอ

“คุณไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็เป็นฝ่ายค้านนะครับ แต่ว่าเรามั่นใจว่าเราได้เป็น”

ในแง่ว่าไม่ได้เป็นรัฐบาล แล้วเป็นฝ่ายค้าน ตอนนี้ระบบในสภาไทย ก็มีแค่ 2 ฝั่งอยู่แล้ว

“ก็ไม่มีปัญหา คือคนไม่เป็นรัฐบาล ก็เป็นฝ่ายค้านนะครับ การเป็นฝ่ายค้านมันไม่ต้องจับมือกันนะครับ มันต่างคนต่างไปเป็นได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร”

อย่างนี้ก็เท่ากับบล็อกตัวเอง เพราะเพื่อไทยเราก็ไม่ร่วม ก็เท่ากับว่าเราประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านเหรอ

“ผมไม่ได้ประกาศตัวเป็นฝ่าย ผมประกาศตัวเป็นแกนนำรัฐบาลนะครับ แล้วผมก็มีสิทธิ์เลือกทุกพรรค ที่ไม่ทุจริต และไม่สืบทอดอำนาจ”

แต่ถ้าเสียงไม่มาเป็นที่ 1 โอกาสเราก็จะไม่มี

“ก็อยู่ที่ความสามารถในการรวบรวมเสียงข้างมาก ก็เหมือนกันทุกพรรคครับ”

ตอนนี้ประชาธิปัตย์ไม่เอาเพื่อไทย และไม่เอาพลังประชารัฐ การจัดตั้งรัฐบาล จะเป็นแกนนำรัฐบาล

“ฟังให้ดีนะครับ ผมบอกว่า ผมเป็นแกนนำรัฐบาล ผมจะเลือกพรรคการเมืองที่ผมมั่นใจว่ามาเป็นรัฐบาล และไม่ทุจริต และไม่สืบทอดอำนาจ ผมเป็นแกนนำรัฐบาล ยกตัวอย่างพลังประชารัฐก่อน พลังประชารัฐ ผมเป็นแกนนำรัฐบาล ไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ อยู่แล้ว เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็น ส.ส. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นชื่อผู้ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าผมเป็นแกนนำรัฐบาล นายกฯ ก็ไม่ใช่ท่าน ผมก็ต้องพิจารณาว่า พลังประชารัฐนี้ ยังมีอะไรที่สืบทอดอำนาจมั้ย มีปัญหาเรื่องขัดกับอุดมการณ์อะไรมั้ย แล้วถ้าบอกว่าผมกั๊ก ผมก็ตอบแล้วไงว่าพรรคที่บอกว่าชัดเจนที่สุด บอกอนาคตใหม่เขาก็ยังตอบเหมือนผมนะ”

ถ้ามีเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาล สมมติให้เคลียร์ๆ ไปเลยว่า สมมติพรรคพลังประชารัฐ จะมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แล้วจะขอโควต้ารัฐมนตรี ในส่วนที่มีทหารเข้าไปนั่ง หรืออาจจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์

“ก็ถ้าผมเห็นว่ามันเป็นการสืบทอดอำนาจผมก็ปฏิเสธ”

ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือไปร่วมในคณะรัฐมนตรีก็ตามใช่มั้ย

“ถ้าเป็นการสืบทอดอำนาจ ก็ไม่ร่วมอยู่แล้วครับ”

คำว่าสืบทอดอำนาจ นิยามกว้างหรือแคบมากน้อยแค่ไหน แค่ตัว พล.อ.ประยุทธ์อย่างเดียวมั้ย หรือมรดกอื่นๆ ที่ได้มาจากกฎหมายในช่วง คสช. ด้วย

“การสืบทอดอำนาจนี้ 1. ตัวบุคคลเป็นส่วนหนึ่ง 2. มรดกที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย นโยบายประชาธิปัตย์ต้องเข้าไปสะสางอยู่แล้ว เช่นบรรดาคำสั่ง ประกาศของ คสช. ที่ขัดกับหลักเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย หรือนโยบาย พรรคนี้ก็ต้องถูกรื้อไปอยู่แล้ว ผมก็เลยไม่ทราบว่าที่ถามนี้จะมีอะไรเพิ่มเติมอีก แต่มันชัดนะครับว่า แนวทางการบริหารประเทศนี้ ถ้ารวมศูนย์อำนาจ ถ้าไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย อันนี้ประชาธิปัตย์ก็ต้องเข้าไปแก้ไขหมดอยู่แล้วในเชิงนโยบาย เพราะเราประกาศเป็นนโยบายไปแล้ว”

กลัวเรื่องฐานเสียงมั้ย คนที่ชอบประชาธิปัตย์แล้วชอบลุงตู่

“ผมบอกแล้วไงครับว่า เราต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา เขาควรจะเลือกบนข้อมูลที่ครบถ้วน แล้วผมคิดว่าความตรงไปตรงมาสำคัญกว่าเรื่องกลัวเสียฐานคะแนนเสียง”

มั่นใจหรือไม่ว่าในรัฐธรรมนูญเรามีเงื่อนไขเกี่ยวกับไม่สามารถชี้นำ ส.ส. ในการโหวตลงมติเลือกนายกฯ ได้

“ก็เหมือนกันทุกพรรคนะครับ”

เรามั่นใจได้แค่ไหนว่า ส.ส. ในสังกัดของเราจะหันมาทางเดียวกับเราหมด

“ผมมั่นใจนะครับว่าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อจัดตั้งรัฐบาล คนของเราก็จะรักษาจุดยืนอุดมการณ์ของพรรค แล้วก็สนับสนุนสิ่งที่ไปประกาศไว้กับประชาชน”

เพราะว่าก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวลือว่าส่วนหนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์ก็มีสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

“ก็มีที่มาจากพรรคอื่นมั๊ง”

กรณีที่เกิดเหตุให้ประชาธิปัตย์อาจไม่ได้ถึง 100 เสียง แล้วคุณอภิสิทธิ์ต้องแสดงจุดยืน พรรคยังยืนยันจุดยืนว่าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์

“ผมเห็นว่าพรรคจะต้องทำอย่างนั้นนะครับ เพราะเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ของจุดยืน ไม่ใช่ของผมครับ เป็นของพรรค”

ถ้าเกิดกรณีการรวมเสียงในสภา ประชาธิปัตย์จำเป็นต้องได้เสียงมั้ย

“ก็ตามหลักสากลของระบบสภา ใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ สภาผู้แทนราษฎรนะครับ ไม่ต้องพูดถึงวุฒิสภา ก็เป็นอย่างนั้น ประเทศไทยก็ปฏิบัติอย่างนั้น ปี 2518 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด ทั้งๆ ที่ได้เสียงมากที่สุด นิวซีแลนด์เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคอันดับ 2 จัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคอันดับแรกจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็เป็นหลักสากลของระบบรัฐสภา”

แปลว่าจะไม่ได้ปล่อยให้พรรคที่ได้ที่ 1

“แต่โดยหลัก พรรคที่ 1 เขาคงจะมีโอกาสในการจัดตั้งมากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว คนมีเสียงมากก็ย่อมมีโอกาสสูงกว่าอยู่แล้ว เป็นปกติธรรมดา”

แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่รวมเสียงแข่ง

“คือถ้าเขาตั้งไม่ได้ มันก็ไม่ต้องแข่งอยู่แล้วครับ เขาตั้งไม่ได้เราก็ตั้ง ไม่ต้องไปแข่งกันตั้งหรอกครับ”

รู้ว่าตอนนี้พรรคการเมืองตอนนี้พยายามสื่อสารกับประชาชนในแง่เรื่องจุดยืนร่วมเผด็จการ ร่วมทักษิณมีอะไรจะบอกกับพรรคการเมืองเหล่านี้มั้ย

“ไม่มีครับ ไม่มีครับ ผมมีหน้าที่บอกกับประชาชน แล้วก็มีหน้าที่เรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองหันกลับมาในเรื่องของนโยบาย แล้วก็แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์มากกว่า แล้วก็ไม่อยากให้ไปบังคับให้คนเลือกข้างในเรื่องตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะอนาคตของประเทศมันสำคัญกว่านั้น”

พรรคการเมืองบางส่วนกอดคำว่าประชาธิปไตยไว้กับตัวเอง พรรคการเมืองบางส่วนทิ้งตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย จะมองอย่างไร

“ผมก็ยืนยันแล้วว่า ประชาธิปัตย์ก็เป็นประชาธิปไตย และเป็นประชาธิปไตยที่สุจริต ซึ่งจะรักษาประชาธิปไตยได้ ถ้าประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว และเป็นที่ยอมรับกันอย่างนั้น แล้วไปทำอะไรก็ได้ ผมว่าวันนี้เวเนซุเอลา คงจะไม่เกือบจะรบกันอยู่หรอกครับ”

“ถามให้หมดนะครับ หลังจากวันนี้จะไม่ค่อยพูดเรื่องนี้แล้วนะครับ จะได้พูดเรื่องนโยบาย ถามให้หมดเลยนะครับ”

จะยกตัวอย่างให้มันชัดเคลียร์ไปเลย ก็คือ ถ้าสมมติว่าประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจริง ขออนุญาตยกตัวอย่างให้ครบทั้ง 2 พรรคเลยว่าเงื่อนไขที่เราจะเสนอเพื่อที่จะร่วมรัฐบาลได้ กับพรรคพลังประชารัฐ กับเพื่อไทย คืออะไร ของแต่ละพรรค ยกตัวอย่างแต่ละพรรค เงื่อนไข

“กรณีเพื่อไทยตอนนี้ผมเรียนตรงๆ ผมมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงนะครับ ก็จากปรากฎการณ์หลายอย่างในช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ยังน่าจะยืนยันอยู่ว่า มีคนที่สามารถที่จะครอบงำได้อยู่ นี่คือในมุมมองของเรา เพราะฉะนั้นก็มองไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่จะมาเปลี่ยนแปลง

ส่วนพลังประชารัฐ ผมต้องเรียนอย่างนี้ คงต้องใช้เวลาในการที่จะนึกให้ออกเหมือนกันว่า วันที่พลังประชารัฐไม่มี พล.อ.ประยุทธ์แล้ว เขาเป็นอย่างไร ใครเป็น ส.ส. ใครเป็นอะไรอย่างไร เพราะว่าผู้บริหารเขาทั้งหมดก็จะไม่มีใครได้เป็น ส.ส.เลย เท่าที่ผมดูนะ เพราะว่าหัวหน้า เลขา โฆษก ก็ รองหัวหน้าบางคนไม่มีใครลง ส.ส. เลย เมื่อเข้าไปอยู่ในสภาแล้ว หลักก็จะอยู่ที่กลุ่ม ส.ส. ที่จะเข้ามา เพราะฉะนั้นผมยังนึกหน้าตาไม่ค่อยออก แต่สิ่งที่ผมย้ำก็คือว่า ถ้าคุณยังมาพยายามที่จะให้เกิดการสืบทอดอำนาจ ผมก็ไม่ร่วมกับคุณ ไม่ให้คุณมาร่วม ไม่ใช่ร่วมกับคุณ”

พูดอย่างนี้ได้มั้ยว่า ประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ

“พรรคประชาธิปัตย์จะชวนพรรคพลังประชารัฐมาร่วมก็ต่อเมื่อไม่มีการสืบทอดอำนาจ เอาให้ชัดนะครับ ไม่ต้องพูดเรื่องร่วมกับใครแล้วครับ มีแต่ชวนคนมาร่วม”

พล.อ.ประยุทธ์ต้องไม่เป็น

“ก็แน่นอนอยู่แล้วนะครับ”

หรืออีกนัยยะนึงก็คือคุณอภิสิทธิ์ต้องเป็นนายกฯ ใช่มั้ย

“นัยยะหนึ่งก็ใช่สิครับ ก็เราหาเสียงอย่างนั้นนะครับ พรรคก็เสนอชื่อผมเป็นนายกฯ อยู่แล้วนะครับ”

มั่นใจแค่ไหนว่าถ้าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่เสียงที่จะเลือกนายกฯ มีเสียง ส.ว. 250

“ก็ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่งั้นจะบริหารประเทศได้ยังไง”

ถ้าเสียง ส.ว. ไม่สนับสนุนเป็นนายกฯ ก็บริหารประเทศไม่ได้เหมือนกัน

“ก็ผมถึงได้บอกว่า ส.ว. ก็ควรจะเคารพการตัดสินใจของ 250 กว่าเสียงของสภาผู้แทนราษฎร และผมก็ดูว่า หลังจากที่ผมพูดเรื่องนี้ ขณะนี้ทุกพรรคการเมืองก็มาพูดเหมือนกันหมดแล้ว อาจจะยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ”

ในสภา ลูกพรรคไม่เชื่อ ไม่รักษาอุดมการณ์ของพรรค ยกมือโหวตให้พรรคใดพรรคหนึ่ง ทางพรรคจะบริหารจัดการอย่างไร

“พรรคก็ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ถ้าใครไม่รักษาอุดมการณ์ของพรรคก็ขัดข้อบังคับของพรรคอยู่แล้วนะครับ”

มั่นใจว่าสามารถควบคุมลูกพรรคได้ไม่มีงูเห่า

“ครับผม ครับผม”

ดำเนินการกับลูกพรรคอย่างไร

“ไปอ่านข้อบังคับพรรคได้ครับ เรื่องวินัยพรรค”

แต่รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการโหวต

“ครับผม ก็ว่ากันไปครับ ว่ากันไป”

คุณสมชัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ถ้ามีการร่วมกัน ก็อาจจะแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับพลังประชารัฐบ้าง ลักษณะนี้หมายถึงว่าแนวโน้มในการที่จะเอาพลังประชารัฐมาร่วมด้วย ก็มีเป็นไปได้มากกว่าพรรคอื่นๆ ใช่มั้ย

“ไม่ครับ ก็เป็นหลักการเท่านั้นเองว่า ชวนใครมาร่วมก็ต้องมีตำแหน่งให้เขาบ้าง ไม่งั้นเขาคงไม่มาร่วมหรอกครับ”

คำถามสุดท้าย หลังการแสดงจุดยืนของพรรค มี Feedback อย่างไรจากประชาชน หรือจากสมาชิกพรรค

“ตอบรับดีมาก เฟซบุ๊กผมก็ไม่เคยได้ไลค์มากเท่านี้ ขอบคุณครับ”


คลิปจาก MGR Online VDO

ภาพและข้อมูลจาก democrat











©2018 CK News. All rights reserved.