วันที่ 28 พฤษภาคม - นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการป้องกันฝีดาษลิงว่า วัคซีนฝีดาษที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.)เก็บรักษาไว้ 43 ปีในลักษณะผง (Dry freeze) มีประมาณหมื่นโดส โดยปกติจะเก็บไว้เป็นตัวอย่างหรือการอ้างอิง เราจึงนำมาตรวจดู ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อให้ทราบว่า วัคซีนยังมีคุณภาพหรือไม่ คือมีความปลอดภัย มีเชื้อปนเปื้อน สารเคมีเปลี่ยนไปหรือไม่ และยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหรือไม่
เพราะข้อมูลการปลูกฝีดาษคน (Smallpox) ที่หยุดปลูกไปเมื่อปี 2523 ที่ระบุว่าป้องกันได้ 85% เป็นข้อมูลเก่า แต่ฝีดาษตัวปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล ถ้าเราเจอคนไข้ในประเทศไทยจะเอาเชื้อฝีดาษลิงปัจจุบันมาเพาะ และเอาผู้ที่เคยรับวัคซีนนำเลือดมาตรวจว่าภูมิคุ้มกันสู้กับเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่ ส่วนที่มีการตรวจผู้สงสัยยังไม่พบฝีดาษลิง เป็นโรคอื่น
“สำหรับวัคซีนฝีดาษที่นำมาตรวจ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่มาทำให้น็อกหมดฤทธิ์ เมื่อนำมาตรวจดูก็พบว่าเชื้อโตเร็วมากหรือเชื้อยังแอคทีฟอยู่ทั้งที่ผ่านมา 43 ปี แต่กระบวนการยังอีกยาว โดยวันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูว่าเราต้องตรวจอะไรอีกบ้าง หากจะใช้จริง ต้องทำอย่างไรบ้าง หากมีเชื้อฝีดาษลิงมาก็จะมาตรวจกับคนที่ภูมิจากวัคซีนหรือตรวจกับวัคซีนว่าเป็นอย่างไร” นพ.ศุภกิจกล่าว
เมื่อถามถึงการตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงในผู้ที่เข้าข่ายสงสัยมีกี่ราย และใช้วิธีการใด นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เมื่อมีเคสสงสัยมาเราก็ตรวจ หากยังไม่มีผื่นก็เก็บตัวอย่างเชื้อจากจมูก เพื่อทำ RT-PCR แต่หากมีผื่นแล้วก็เก็บตัวอย่างจากผื่น ซึ่งมีโอกาสเจอเชื้อมากกว่า ดังนั้นหากผู้ที่มาจากแอฟริกา อังกฤษ ที่เริ่มมีไข้ มีความเสี่ยงสูงเราก็นำมาตรวจ แต่ช่วงที่เริ่มแพร่เชื้อคือช่วงที่ออกผื่น ซึ่งช่วงนั้นทำให้สังเกตได้ คนก็จะเลี่ยงการสัมผัสได้