สภาวัฒนธรรม จ.ลพบุรี ร่วมกับ สนง.วัฒนธรรม-ม.ราชภัฏเทพสตรี จัดเสวนาทางวิชาการ "ตามรอยพระนางจามเทวี จากลวปุระ สู่หริภุญชัย"


10 ก.พ. 2565, 14:23

สภาวัฒนธรรม จ.ลพบุรี ร่วมกับ สนง.วัฒนธรรม-ม.ราชภัฏเทพสตรี จัดเสวนาทางวิชาการ "ตามรอยพระนางจามเทวี จากลวปุระ สู่หริภุญชัย"




วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น. สภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง "ตามรอยพระนางจามเทวี จากลวปุระ สู่หริภุญชัย"เพื่อประมวลข้อมูล หลักฐาน องค์ความรู้ เป็นหลักฐานไว้ในจังหวัดลพบุรี และประมวลข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องครบถ้วนเสนอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ต่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานเปิดการเสวนาฯ มีผู้สนเข้าร่วมการเสวนา จำนวน 100 คน ณ ห้องประชุมพระนารายณ์ อาคารรัตนเทพสตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และการเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ จะเน้นเนื้อหา 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1.กรุงลวปุระราชธานีแห่งอาณาจักรทวารวดี, 2.กระบวนเสด็จทางชลมารคของพระนางจามเทวีจากลุ่มเจ้าพระยาสู่พิงคนที, 3.พระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์ศรีหริภุญไชย การปกครองภายใต้ร่มเงาพระศาสนา และ4.การขยายอาณาเขตของนครหริภุญไชย ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ผู้ศึกษาค้นค้าวิจัยเรื่องพระนางจามเทวีอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งทุกแง่มุมจนได้ความรู้ที่สำคัญมาเป็นวิทยากร

 



จากการเก็บข้อมูลของ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ในจังหวัดลพบุรี พบว่ามีสถานที่ที่ยังหลงเหลือชื่อบ้านนามเมืองที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีอยู่จำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอบ้านหมี่ ได้แก่ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์, วัดนครโกษา, วัดเชิงท่า, เขาสมอคอน, คุ้งน้ำบางพึ่งและบางไผ่, พระพุทธบาทเขาน้อย กองบิน2 และจากการศึกษาชาวลพบุรีส่วนใหญ่ไม่มีความผูกพันหรือรู้จักเรื่องราวของพระนางจามเทวีมากนัก เหตุที่ช่วงชีวิตเกือบทั้งหมดของพระนางได้สร้างคุณงามความดีให้แก่นครลำพูนและเมืองใกล้เคียงแถบลุ่มแม่น้ำปิง-วัง มากกว่า



คำที่เกี่ยวข้อง : #สภาวัฒนธรรม   #ลพบุรี  









©2018 CK News. All rights reserved.