ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน จากเดิมในวาระการประชุม ครม.ทางกระทรวงมหาดไทย ได้มีการเสนอบรรจุวาระ เพื่ออนุมัติความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อ ครม.ที่จะต่อขยายสัญญาสัมปทานให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส ไปอีก 30 ปี จากเดิมสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 ขยายต่อไปให้สิ้นสุดในปี 2602 โดยอ้างว่าค่าโดยสารจะจัดเก็บตลอดสายที่ 65 บาท แต่ล่าสุดมีรายงานว่า ได้มีการถอนวาระดังกล่าวออกไปแล้ว โดยไม่ได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวาระพิจารณาดังกล่าว เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณามาเป็นเวลานาน โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 13 ส.ค.63 ได้เคยมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ต่อมามีรายงานว่าได้มีการถอนเรื่องออกสู่การพิจารณาเช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ไปศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อน และ ให้ขอความเห็นเพิ่มเติมมาประกอบการพิจารณาของ ครม.ก่อนที่จะนำเสนอใหม่อีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทาง ครม. ได้มีการขอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.จากกระทรวงคมนาคมต่อเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้มีการเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกระทรวงมหาดไทยไปในการประชุม ครม. รวม 7 ครั้ง และวันที่ 19 ต.ค.นี้ ด้วย ว่า กระทรวงคมนาคมยืนยันตามหลักการ 4 ประเด็น ที่ไม่เห็นด้วย ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยและขอให้กรุงเทพมหานคร หรือ กทม.ดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจน ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ,2.ประเด็นการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท
3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา และ 4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม. ได้ทำสัญญาจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไตร่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมได้รับตลอดจนการตรวจสอบขั้นตอนกฎหมาย ระเบียบ ครม. และสัญญาที่ กทม.ผูกพันธ์ไว้กับคู่สัญญาเดิมปี 2535เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล กระทรวงคมนาคมจึงมีความเห็นว่า 1.หาก กทม.จะขยายต่อสัญญาสัมปทานในช่วงที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คมนาคมเห็นควรที่จะให้ กทม.ชำระหนี้สินให้แก่ รฟม.ก่อน เพื่อเป็นไปตามมติ ครม. และเป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เรียบร้อยก่อนที่จะเริ่มกระบวนการจัดหาผู้ให้บริการในโครงข่ายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2.หาก กทม.ไม่มีความประสงค์ให้บริการสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อไป ด้วยการไม่ปฎิบัติตามมติ ครม.เมื่อ 26พ.ย.2561 คมนาคมเห็นควรให้เสนอ ครม.เพื่อทบทวนมติ ครม.เมื่อ 26 พ.ย.2561และมอบหมายให้ รฟม.ดำเนินการตามระเบียบ กม.
และ 3. หากมีการต่อขยายสัญญาสัมปทาน บริษัทต้องแจ้งความประสงค์ไปยัง กทม.ในเวลาไม่มากกว่า 5 ปี และไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนวันสิ้นสุดสัญญา และต้องได้รับการอนุมัติจาก ครม.ก่อน ซึ่งเหตุผลที่ต้องกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการทราบก่อนเวลา เนื่องจากต้องให้หน่วยงานที่กำกับต้องพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการร่วมทุนที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งอัตราเงินเฟ้อ และ ดัชนีผู้บริโภค ,4.กรณี กทม. มีภาระหนี้จากการว่าจ้างเอกชนติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าและว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้ง 2ส่วน ที่ได้ทำเมื่อปี 2559นั้นเห็นควรให้มีการตรวจสอบถึงสัญญาว่ามีความชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ ซึา่งจะส่งผลต่อมูลหนี้ดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต่อไป
นอกจากนั้น จากการศึกษาและประกอบความเห็นยังพบว่า ผลประโยชน์ของภาครัฐที่จะได้รับ ตลอดระยะเวลาสัมปทานถึงปี 2602 ตามที่ กระเทรวงมหาดไทยเสนอต่อขยายอายุสัญญา 30ปี กรณีที่รัฐดำเนินการเองจะมีผลประโยชน์สูงกว่ากรณีที่ให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า กรณี กทม.ดำเนินการเองภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิ(ปี2562)จำนวน 467,822 ล้านบาท และหาก กทม. ให้เอกชนดำเนินการโดยเริ่มจากปีที่หมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิในปี 2602จำนวน 32,689.3ล้านบาท ซึ่งหมายถึงหากรัฐดำเนินการเองจะมีกระแสเงินสดสุทธิมากกว่ากรณีให้เอกชนสูงถึง 435,132ล้านบาท
จากกรณีที่มีการผลักดันให้มีการจ่อขยายสัญญาสัมทานในหลายๆครั้งได้มี รัฐมนตรีทั้งในกลุ่ม ที่มาจากพรรคพลังประชารัฐ และ พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึง พรรคภูมิใจไทย ต่างไม่เห็นด้วยกับวาระดังกล่าว เนื่องจาก กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขระเบียบ มติ ครม. รวมถึง หลักธรรมาภิบาล ทำให้ รัฐมนตรีหลายคน ถึงขั้นหากวาระดังกล่าวมีการพิจารณาอนุมัติจะขอให้บันทึกว่าไม่เห็นด้วยต่อการขยายต่อสัญญาสัมปทาน เพราะหากมีข้อร้องเรียน หรือฟ้องร้อง อาจจะถูกดำเนินคดีได้ จึงเป็นที่มาต้องทำให้กระทรวงมหาดไทยถอนวาระดังกล่าวออกไปในที่สุด
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่พิจาณาต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมว่า เนื่องจากมีรายละเอียดที่ยังไม่เรียบร้อย เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมได้มีข้อทักท้วงมา และทางกระทรวงมหาดไทยต้องตอบข้อทักท้วงกระทรวงคมนาคมให้ได้เสียก่อน ซึ่งตนเองยังไม่ได้เห็นข้อทักท้วงนั้นว่า เป็นข้อทักท้วงเดิมหรือเรื่องใหม่
นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการดึงวาระดึงออกมา เพียงแต่เมื่อถึงวาระดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ขอถอนวาระนี้ออกไปเพื่อทำความเห็นเข้ามาใหม่ ซึ่งยังไม่ทราบว่ามีกี่ประเด็น ส่วนจะเสนอเข้ามาใหม่ในสัปดาห์หน้าหรือไม่ขึ้นกับว่าทางกระทรวงมหาดไทยจะทำเสร็จหรือไม่ ซึ่งยังไม่ทราบว่า มีกี่ประเด็นและผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้มาปรึกษาตนเอง
©2018 CK News. All rights reserved.