"การบินไทย" วอนรัฐช่วยพยุงธุรกิจ คงสิทธิการบิน - เลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติ รับนโยบายเปิดประเทศ


18 ต.ค. 2564, 11:07

"การบินไทย" วอนรัฐช่วยพยุงธุรกิจ คงสิทธิการบิน - เลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติ รับนโยบายเปิดประเทศ




วันที่ 18 ต.ค. 64 นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ภาครัฐมีนโยบายเปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้ สิ่งที่การบินไทยมีความกังวลและอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือหลังเปิดประเทศให้กับสายการบินไทย ขอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้จัดเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติ Tourist Inbound Tax ที่จะให้สายการบินทุกสายที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย เป็นผู้จัดเก็บให้ออกไปก่อน จากเดิมกำหนดให้จัดเก็บในช่วงไตรมาส 1 ของปี 65 โดยอยากให้รัฐบาลเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมออกไปจนกว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวส่งสัญญาณฟื้นตัวในปี 66

นอกจากนี้ ยังมีประเด็น สิทธิทางการบินของการบินไทย ซึ่งจากเดิมก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น หากสายการบินใดมีสิทธิทางการบิน แต่ไม่สามารถทำการบินตามสิทธิที่มีอยู่ หรือดำเนินการได้ไม่ถึง 80% จะต้องถูกดึงสิทธิทางการบินคืน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด สถานีปลายทางทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ทำการ Waive Slots คือ ยกเว้นการใช้สิทธิให้สายการบิน โดยไม่จำเป็นต้องทำการบิน ถึง80% จึงทำให้การบินไทยขณะนั้นสามารถรักษาเวลาเข้า-ออกของเที่ยวบิน ทั้งหมดที่เคยมีอยู่ในปี 62 มาจนถึง ฤดูหนาว 64/65 ได้ 



แต่อย่างไรก็ตาม เมื่ิอมีนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลไทย รวมถึง นโยบายรัฐบาลของทั่วโลก และมีแนวโน้มให้ผู้โดยสารที่ฉีดวัคซีนครบ และมีผลตรวจ ATK สามารถเดินทางได้โดยไม่กักตัว จึงทำให้คาดว่า ในช่วงต่อไปจะไม่มีการ Waive slots ตั้งแต่ฤดูร้อนปี 65 เป็นต้นไป ประกอบกับ ขณะนี้การบินไทยอยู่ในช่วงกระบวนการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นศักยภาพในด้านการแข่งขันรวมถึงอากาศยานที่มีอยู่ของการบินไทยก็มีจำกัด ดังนั้น เมื่อจะเปิดทำการบิน การบินไทยก็จะต้องเลือกเส้นทางที่จำเป็นและทำกำไรในการทำการบินก่อน  ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลกระทบต่อการ รักษาเวลาเข้า- ออกเที่ยวบินของการบินไทยโดยตรง รวมถึงบางเส้นทางมีสิทธิการบินควบคู่กับเรื่อง เวลาเข้า- ออกของเที่ยวบิน รวมทั้งปริมาณผู้โดยสารอาจจะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นทันที ซึ่งกรณีเหล่านี้ อาจทำให้สิทธิทางการบินกว่า 50-70% ของ เวลาเข้า-ออกเที่ยวบินที่มีอยู่ของการบินไทยที่ไม่ทำการบินถูกตัดได้

“อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ เนื่องจากในอดีตการบินไทย เป็นผู้จัดสรรเวลาเข้า-ออกของเที่ยวบินและอยู่ในคณะกรรมการจัดสรรเวลา เข้า-ออกของเที่ยวบิน แต่ตั้งแต่ปี 60 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่ง ประเทศไทย(กพท.) เป็นผู้ดำเนินการเรื่องสิทธิการบินโดยตรง จึงทำให้การบินไทยขาดความยืดหยุ่นและการต่อรองกับสายการบินในต่างประเทศ ดังนั้น ระหว่างที่ธุรกิจการบินกำลังฟื้นตัว ทางการบินไทยจำเป็นต้องอาศัย ความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ โดยขอให้กระทรวงคมนาคมช่วยเหลือผ่อนปรนให้การบินไทย 3 ระยะในช่วงที่มีการเปิดประเทศและธุรกิจการบินกลับมาเริ่มทำการบิน”


นายกรกฎ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางที่ขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ระยะที่ 1(ช่วงปี64-66) การบินไทยขอคงสิทธิ์ของเวลาเที่ยวบินทั้งหมดของการบินไทย และ สายการบินไทย สมายล์ ตามปี 62 ไปอีก 2 ปีจนถึง ธ.ค. 66 ซึ่งเป้าหมายคือ เพื่อให้การบินไทย มีโอกาสหาช่องทางทำธุรกิจและนำอากาศยานมาใช้ หมุนเวียนในฝูงบินให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจการบินหลังโควิด โดยบริษัทฯจะคืนเส้นทางที่ไม่ได้ทำการบิน หรือ จำนวนความถี่ที่ลดลงก่อนล่วงหน้า ตามเวลากำหนดขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไออาร์ต้า เพื่อ ให้ กพท. ได้นำไปจัดสรร หรือในกรณีที่ต้องการกลับมาเปิดทำการบินในเส้นทางที่ยกเลิกไป สามารถกลับมาบินในเวลาและ ความถี่เดิม

ระยะที่ 2(ช่วงปี67-68) การบินไทยยังขอความยืดหยุ่นในการจัดสรรเวลาให้เวลาตามที่การบินไทย และสายการบิน ไทยสมายล์ ร้องขอ เนื่องจากคาดการณ์ว่า ธุรกิจการบินจะกลับมาใกล้เคียงดังเดิม และการบินไทยจะมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงจะขอรักษาสิทธิให้ต่อเนื่องมาถึงปี 67 ซึ่งอาจมีการเริ่มขอเส้นทางบินใหม่และเวลาใหม่ในปี 67-68 เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสายการบินในต่างประเทศ และสามารถหมุนเวียนเครื่องบิน รวมถึงสามารถปรับเวลาเที่ยวบินได้อย่างคล่องตัวใน กรณีที่ถูกปรับมาจากสถานีปลายทาง ส่วนระยะที่ 3 ช่วงปี 68 เป็นต้นไป การบินไทยจะขอเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดสรรเวลาเข้า-ออก ของเที่ยวบิน กับ กพท.เพื่อให้การประกอบธุรกิจของการบินไทยเดินหน้าต่อไปได้











©2018 CK News. All rights reserved.