เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ.2564 โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น
ข้อ 12 บุคคลที่พึงได้รับการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จะต้องมาคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
1.เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2.เป็นผู้ประพฤติดี และปฏิบัติงานราชการหรือปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนด้วยความอุตสาหะ ซื่อสัตย์ และเอาใจใส่ต่อหน้าที่อย่างดียิ่ง
3.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในบัญชีท้ายระเบียบนี้
4.เป็นผู้ไม่เคยมีพระบรมราชโองการหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เว้นแต่ได้รับพระราชทานคืนในภายหลัง
5.เป็นผู้ไม่เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในระหว่างถูกกล่าวหาว่า
(ก) กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรืออยู่ระหว่างพิจารณาโทษทางวินัย หรืออยู่ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย
(ข) กระทำความผิดทางอาญาและอยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาล หรือได้มีคำพิพากษาแล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่พนักงานอัยการรับแก้ต่างคดีนั้น หรือเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลทุโทษ หรือความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว
(ค) กระทำความผิดและอยู่ระหว่างการไต่สวนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรืออยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ทั้งนี้ การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ ที่ปรากฏตามบัญชีแนบท้ายในระเบียบนี้มีทั้งสิ้น 32 บัญชี เช่น การาขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่รัฐมนตรี, ข้าราชการการเมือง ผู้ช่วยรัฐมนตรี ผู้แทนการค้าไทย กรรมการประประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการประสานงานวุฒิสภา, ผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐสภา, ข้าราชการการเมืองในกรุงเทพมหานคร, สมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม บัญชีแนบท้ายในระเบียบนี้ ไม่ปรากฏบัญชีที่เกี่ยวข้องกับผู้สมรส ดังเช่นในระเบียบฉบับเก่า
©2018 CK News. All rights reserved.