นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ว่า ตัวเลขที่มีการอ้างถึงว่าจะมีการปล่อยน้ำ 1,900 ลบ.ม./วินาที นั้น เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวเป็นปริมาณน้ำที่ไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทาน ได้ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านลงสู่พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์สูงสุดที่ 1,423 ลบ.ม./วินาที เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณอ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ และอ.บางไทร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตลิ่งต่ำและอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำสูงขึ้นเพียง 0.56 เมตร เท่านั้น
ปัจจุบันการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,290 ลบ.ม./วิ แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำบริเวณดังกล่าวลดต่ำลงเหลือเพียง 0.44 เมตร ดังนั้น ข้อความที่ได้มีการแชร์บนโลกออนไลน์ดังกล่าว จึงเป็นการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดได้
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ก่อนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่อัตรา 700 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป จะมีการแจ้งให้จังหวัดและผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง ตามนโยบายของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ กอนช. เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น เพื่อป้องกันความเข้าใจที่อาจจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้
©2018 CK News. All rights reserved.