เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 16 กันยายน 2564 ทะลุ 227 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 537,933 คน รวมแล้วตอนนี้ 227,190,094 คน ตายเพิ่มอีก 9,761 คน ยอดตายรวม 4,671,892 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย ตุรกี และอิหร่าน
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 149,288 คน รวม 42,457,468 คน ตายเพิ่ม 2,106 คน ยอดเสียชีวิตรวม 684,800 คน อัตราตาย 1.6%
อินเดีย ติดเพิ่ม 30,361 คน รวม 33,345,873 คน ตายเพิ่ม 432 คน ยอดเสียชีวิตรวม 443,960 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 14,780 คน รวม 21,034,610 คน ตายเพิ่ม 750 คน ยอดเสียชีวิตรวม 588,597 คน อัตราตาย 2.8%
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 30,597 คน ยอดรวม 7,312,683 คน ตายเพิ่ม 201 คน ยอดเสียชีวิตรวม 134,647 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 18,841 คน รวม 7,194,926 คน ตายเพิ่ม 792 คน ยอดเสียชีวิตรวม 195,041 คน อัตราตาย 2.7%
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิหร่าน อาร์เจนติน่า และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 93.31 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และะเวียดนาม ติดเพิ่มกันหลักหมื่น
ส่วนญี่ปุ่น เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา และลาว ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และไต้หวัน ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
สถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานจำนวนติดเชื้อใหม่ที่รายงานนั้นยังคงสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
แต่หากรวม ATK ด้วย ก็จะขยับแซงบราซิล ขึ้นเป็นอันดับ 9 ของโลก
ถ้าดูเฉพาะในเอเชีย จำนวนติดเชื้อใหม่ของเราเป็นอันดับ 6
ผลลัพธ์ของนโยบายกล่องทรายและ 7+7
พื้นที่ท่องเที่ยวทั้งภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ รวมถึงใกล้เคียง เช่น นครศรีธรรมราช ล้วนกำลังเผชิญกับการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น
การประเมินผลนโยบายนั้น ไม่ควรทำให้ประชาชนเข้าใจผิดด้วยการนำเสนอเฉพาะจำนวนเคสติดเชื้อที่ตรวจพบจากการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น
ขอเน้นย้ำตามหลักวิชาการอีกครั้ง ดังๆ ชัดๆ ว่า นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการเปิดประเทศในจังหวัดต่างๆ ที่วางแผนกันมานั้น จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดหนักตามมา ด้วยปัจจัยเสี่ยง 2 ประการ
หนึ่ง “การที่คนที่เดินทางจากต่างประเทศอาจนำเชื้อเข้ามาในพื้นที่ได้”
การมีกฎระเบียบให้ตรวจคัดกรองโรคมาก่อนเดินทางนั้น ช่วยลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง
การกักตัว และตรวจซ้ำระหว่างกักตัวตามมาตรฐาน 14 วัน ก็จะลดความเสี่ยงได้อีกระดับหนึ่ง
ส่วนการฉีดวัคซีนครบโดสมาก่อนเดินทางนั้น คนที่ฉีดวัคซีนมาแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อระหว่างช่วงการเดินทาง ระหว่างพำนักในพื้นที่ และแพร่ให้กับผู้อื่นได้
แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญกว่าอันแรกคือ
สอง “นโยบายเปิดท่องเที่ยวและเปิดประเทศ จะทำให้มีจำนวนคนหมุนเวียนมากขึ้นในพื้นที่ กิจการ กิจกรรมต่างๆ มากขึ้น มีการพบปะติดต่อกัน ค้าขาย บริการ ใกล้ชิดกัน ใช้เวลาร่วมกันนานมากขึ้น” นี่คือปัจจัยเสี่ยงหลักที่เกิดขึ้นจากนโยบาย และส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อติดเชื้อในพื้นที่มากขึ้น เพราะมีการติดเชื้อในชุมชนอยู่
ปัจจัยเสี่ยงทั้งสองประการนั้นคือ ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากนโยบาย
และผลลัพธ์คือ จำนวนการติดเชื้อแต่ละพื้นที่ที่สูงขึ้น โดยมักจะเห็นได้ชัดตั้งแต่ 6-8 สัปดาห์เป็นต้นไป
การประเมินผลนโยบายดังกล่าว จึงต้องไม่ประเมินและรายงานให้เข้าใจเพียงว่า มีจำนวนการติดเชื้อจากคนเดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ต้องดูจำนวนติดเชื้อทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งสองเรื่อง
นี่คือสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ และควรบอกกล่าวเล่าแจ้งให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อให้เกิดตรรกะ การใช้เหตุผล ยืนบนหลักการ และใคร่ครวญทบทวน วางแผนจัดการชีวิตและจัดการปัญหาในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง
แต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายข้างต้น หน่วยงานและประชาชนก็คงต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ ชั่งใจให้ดีว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมานั้นคุ้มค่าจริงหรือไม่ และหากดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จะเกิดผลกระทบระยะยาวต่อชีวิต และแหล่งพำนักพักพิง/ที่ทำมาหากิน ของตนเองและลูกหลานอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ขอให้ตระหนักว่า หากการระบาดภายในประเทศยังมีความรุนแรง กระจายไปทั่ว ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากนโยบายเปิดท่องเที่ยว และเปิดประเทศนั้น ย่อมจะทำให้การระบาดในแต่ละพื้นที่รุนแรงขึ้น และเร็วขึ้นแน่นอน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จำนวนคนป่วยมากขึ้น จำนวนคนตายมากขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลต่อการเกิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ในประเทศซึ่งอาจดื้อต่อยา ต่อวัคซีนที่มี และเกิดผลกระทบต่อเนื่องย้อนเป็นโดมิโน่
ยิ่งไปกว่านั้น ก็ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด
และหากเกิดขึ้นในอนาคต โอกาสที่ประชาชนส่วนใหญ่จะยืนระยะสู้กับโรค คงจะลำบากมาก เพราะเราสู้กันมานาน แต่ไม่ตัดวงจรระบาด ทรัพยากรที่มีย่อมลดลงหรือหมดไป
ปัญหาสังคม เช่น อาชญากรรม และความไม่สงบสุขในบ้านเมือง ก็ย่อมตามมาได้
เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐควรใคร่ครวญให้ดี เรียนรู้บทเรียนจากกล่องทรายที่เห็นประจักษ์ชัด
ควรใช้เวลาไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จัดหาวัคซีนที่ดี มีประสิทธิภาพ ให้แก่ประชาชนอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่
หากรีบเปิดประเทศ เปิดท่องเที่ยว มองตาไหนบนกระดาน ก็ไม่เห็นตาเดินแห่งชัยชนะ
สถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ปลอดภัยต่อการเปิดท่องเที่ยว และเปิดประเทศครับ
ชะลอเถิดครับ
ด้วยรักและห่วงใย
©2018 CK News. All rights reserved.