วันที่ 25 ส.ค. 64 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กำลังเตรียมที่จะหารือกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในเดือนกันยายนนี้
โดยในขณะนี้ตนได้ข้อสรุปแล้วในเรื่องของโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ แต่จำเป็นที่จะต้องนำข้อเสนอนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาเห็นชอบด้วย ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลา เนื่องจากโครงสร้างภาษีบุหรี่ในปัจจุบัน จะสิ้นสุดภายใน 30 กันยายน 2564 นี้
ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2560 กำหนดให้อัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ที่มีราคาขายปลีกต่อซองไม่เกิน 60 บาท จะเสียภาษีในอัตรา 20 %ของราคาขายปลีก และบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกต่อซองเกินกว่า 60 บาท จะต้องจ่ายภาษีในอัตรา 40 % ของราคาขายปลีก แต่ความจริงแล้วใน 1 ตุลาคม ปี 2562 เป็นต้นไปกรมสรรพสามิตจะต้องปรับอัตราภาษี เหลือเพียงอัตราเดียว คือ อัตรา 40 % ตามแผนที่กำหนด แต่จากความไม่เห็นด้วยของผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะโรงงานยาสูบที่ระบุว่าได้รับผลกระทบจากโครงสร้างภาษีนี้ ทำให้กระทรวงการคลัง ตัดสินใจเลื่อนการประกาศออกไป จนกระทั่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ และทบทวนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ จะต้องมีความสมดุลใน 4 ด้านคือ การดูแลสุขภาพของประชาชน คือ จะต้องไม่เป็นการดึงคนให้เข้ามาสูบบุหรี่มากขึ้น เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ จะต้องไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราภาษี จนทำให้การจำหน่ายใบยาสูบให้กับโรงงานยาสูบลดลงทำให้รายได้ลดลง รายได้ของกรมสรรพสามติจะต้องไม่ลดลง และอัตราภาษีจะต้องไม่ทำให้เกิดการลักลอบขายบุหรี่เถื่อนที่หนีภาษีมากขึ้น เพราะเมื่ออัตราภาษีสูงขึ้นก็เป็นแรงจูงใจให้คนลักลอบเพราะเห็นว่าคุ้มค่าต่อความเสี่ยง
นับตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ตั้งแต่ปี 2560 รายได้ภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ซึ่งถือเป็นรายได้สูงเป็นอันดับสองของกรม ลดลงโดยตลอด โดยปีงบประมาณ 2560 รายได้จากภาษีสรรพสามิตบุหรี่ อยู่ที่ 6.86 หมื่นล้านบาท , ปี 2561 เก็บได้ 6.85 หมื่นล้านบาท , ปี 2562 เก็บได้ 6.74 หมื่นล้านบาท ,ปี 2563 จัดเก็บได้ 6.29 หมื่นล้านบาท และ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 จัดเก็บได้ 3.78 หมื่นล้านบาท
ส่วนภาษีสรรพสามิตยาเส้น ( Roll your own) ซึ่งศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ที่รณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่มาอย่างยาวนานในประเทศไทยในฐานะประธานมูลนิธีรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ระบุว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาการขึ้นภาษีสรรพสามิตยาเส้นเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ทำให้อัตราภาษีสรรพสามิตยาเส้น ต่ำกว่าอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ถึง 5-6 เท่า ทำให้คนที่สูบบุหรี่ม้วนเอง มีมากขึ้น คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของคนสูบบุหรี่ทั้งประเทศที่มี 10 ล้านคน
ถึงแม้ว่าการสูบยาเส้นม้วนเอง กับบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน จะมีโทษไม่แตกต่างกัน แต่ภาระภาษีของยาเส้นกลับต่ำกว่านั้น เป็นเพราะการพิจารณาในประเด็นนี้มีประเด็นทางสังคมมาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากคนที่สูบบุหรี่ม้วนเอง ส่วนใหญ่เป็นคนจน หากขึ้นภาษีให้สูงขึ้น ก็จะกระทบต่อคนกลุ่มนี้
ทั้งนี้ ในปี 2562 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาเส้น จาก 0.005 บาท/กรัม เป็น 0.1 บาท/กรัม หรือปรับเพิ่มขึ้นมา 20 เท่า
©2018 CK News. All rights reserved.