นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ปีบัญชีของธนาคารเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน-31 มีนาคมของปีถัดไป โดยในไตรมาสแรกของปีบัญชีนี้ของธนาคาร สามารถปล่อยสินเชื่อออกไปได้แล้ว 1,160 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสแรกของปีบัญชีก่อนหน้า 30 %
โดยเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปับัญชีนี้ ตั้งเป้าเติบโตขึ้นจากปีบัญชีก่อนหน้า 69,000 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องดูจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้ยังมีภาพที่ไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับใด ซึ่งบางสถาบัน คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอาจติดลบ 1 % ถึงขยายตัว 0 % ขณะที่กระทรวงการคลัง ประเมินล่าสุดว่าจะขยายตัว 1.3 %
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาธนาคารพยายามปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพื่อบรรเทาผลกระทบ เช่น การปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจร้านอาหาร เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจนี้ ซึ่งร้านอาหาร ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนภาคการเกษตรในแง่ของวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร
ปีนี้ต้องยอมรับว่าธนาคารเน้นในเรื่องการดูแลคุณภาพสินเชื่อ มากกว่าการขยายตัวของสินเชื่อ สืบเนื่องมาจากผลของการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้ลูกค้าสินเชื่อของธนาคารได้รับผลกระทบด้านรายได้ โดย ธ.ก.ส.ได้ทำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย โดยขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งแบ่งเป็นกรณีที่ลูกค้าที่มีงวดการชำระหนี้แบบรายปีๆละครั้ง จะพักหนี้ให้ 1ปี ส่วนกรณีลูกค้าที่ชำระหนี้เป็นรายเดือนจะพักหนี้ให้ 6 เดือน”
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมิถุนายนนี้ อยู่ที่ 3.86 % ของสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ 1.553 ล้านล้านบาท แต่ก็มีโอกาศที่ NPL จะทะยานสูงขึ้นกว่านี้ หากพ้นจากระยะเวลาของโครงการพักชำระหนี้ไปแล้ว เพราะมีลูกค้าบางกลุ่มที่อาจไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่อ
ทั้งนี้ ธนาคารได้พยายามเข้าไปพุดคุยกับลูกค้าของธนาคารเพื่อให้ทราบถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไข โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็นสามกลุ่ม คือ ลูกค้ากลุ่มสีเขียว ถือเป็นลูกค้าที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามปกติ ,ลูกค้ากลุ่มสีเหลือง เป็นกลุ่มที่อาจมีปัญหาในการชำระหนี้ และลูกค้ากลุ่มสีแดง เป็นลูกค้ากลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้
จากการสำรวจของธนาคาร พบว่า ราว 10 % ของลูกค้าที่สำรวจ อยู่ในกลุ่มสีแดงซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้เป็นลูกค้าที่เป็นNPLอยู่แล้ว(ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด) ,ส่วนลูกค้าที่ถูกสำรวจที่เหลือ เป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มเสีเหลืองและเขียว แต่สัดส่วนโน้มเอียงไปทางสีเหลืองมากกว่าสีเขียว
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ NPL ของธนาคาร ณ สิ้นปีบัญชีนี้ ( 31 มีนาคม 2565) คาดว่าจะอยู่ที่ 4 % แต่กรณีที่เหตุการณ์เลวร้ายอาจทะยานขึ้นไปถึง 5 % ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจว่าจะถดถอยมากกว่าที่คาดไว้หรือไม่
สำหรับโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยสามารถตีทรัพนย์ชำระหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้ได้ และมีเงื่อนไขให้ลูกหนี้ซื้อคืนทรัพย์นั้นได้ในภายหลัง สำหรับ ธ.ก.ส.นั้นมีลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์สามารถเข้าโครงการพักทรัพย์พักหนี้ได้ จำนวน 20,593 ราย มีมูลหนี้รวม 18,000 ล้านบาท แต่มีลูกค้าที่ยื่นขอเข้าโครงการ เพียง 3 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมกัน 2,640 ล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมามีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดของโรค COVID- 19 และต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เกิดจากเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติในอนาคต โดย ธปท. จะให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงิน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินโดยมีเงื่อนไขซื้อคืนในราคาที่โอนไปและมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นกลับไปใช้ประกอบธุรกิจได้ตามปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้อันจะส่งผลฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน และต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยธปท.กำหนดวงเงินในโครงการนี้ไว้ 100, 000 ล้านบาท
©2018 CK News. All rights reserved.