กรมควบคุมโรค แนะใช้ "ชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง" เฉพาะกลุ่มเสี่ยง


19 ส.ค. 2564, 07:53

กรมควบคุมโรค แนะใช้ "ชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง" เฉพาะกลุ่มเสี่ยง




วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประชาชนให้ความสนใจซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจน (ATK) นำไปตรวจด้วยตนเองจำนวนมาก จึงขอแนะนำว่าต้องเลือกชนิดที่มีฉลากระบุว่า “สำหรับใช้ทดสอบด้วยตนเอง” (Home use, home test, self-test) และได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ซึ่งเป็นชุดสำหรับตรวจสารคัดหลั่งในโพรงจมูกหรือตรวจด้วยน้ำลาย โดยให้พิจารณาความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ของตนเอง คือ กรณีที่มีอาการโรคทางเดินหายใจ หรือมีไข้ต่ำๆ ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก หรือมีตาแดง ผื่นขึ้น ถ่ายเหลว หรือในกรณีที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ, มีคนในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานติดเชื้อโควิด-19, อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19,เดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด ซึ่งผลการตรวจจะแม่นยำขึ้นหลังจากได้รับเชื้อ 5-14 วัน



สำหรับกรณีผลตรวจเป็นบวก ถือเป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ให้ปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 คือแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาของสถานพยาบาลอย่างเหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์ งดการออกจากบ้านโดยเด็ดขาด แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ แยกตัวเอง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา แยกห้องน้ำ แยกของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ รวมทั้งถุงใส่ขยะ  หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงในบ้าน ล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อย ๆ หากเป็นผู้ที่สมัครใจแยกกักตัวรักษาอยู่ที่บ้าน (Home isolation) ให้สังเกตอาการทุกวัน  โดยตรวจวัดไข้ วัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว มีไข้ให้พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ หากรับประทานยาลดไข้แล้ว ไข้ยังไม่ลด หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น ไอมากขึ้น หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลทันที


ส่วนกรณีผลตรวจเป็นลบ อย่าพึ่งวางใจว่าไม่ติดเชื้อ เพราะอาจเกิดจากเชื้อยังอยู่ในระยะฟักตัว มีปริมาณเชื้อที่โพรงจมูกน้อย หรือเก็บผิดวิธี ขอให้ปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อไว้ก่อน และตรวจซ้ำอีกใน 3-5 วัน หรือตรวจทันที   เมื่อมีอาการของโรคทางเดินหายใจ เช่น ไอ มีน้ำมูก มีไข้ หากผลตรวจยังเป็นลบ แสดงว่าไม่พบการติดเชื้อ แต่ยังคงต้องป้องกันโรคเช่นเดียวกับคนปกติ ทั้งนี้ ชุดตรวจที่ใช้แล้วถือว่าเป็นขยะติดเชื้อ จะต้องทิ้งอย่างมิดชิด โดยใส่ถุงแดง แล้วใช้แอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นปากถุง หากไม่มีถุงแดงให้ใส่ถุงขยะทั่วไป พ่นแอลกอฮอล์ 70% เช่นกัน และเขียนว่าขยะติดเชื้อ นำไปแยกทิ้งในถังขยะ  











©2018 CK News. All rights reserved.