วันที่ 7 ก.ค.2564 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวผลสำเร็จวิจัยพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 “COVID-19 SCAN” จากความร่วมมือระหว่างหน่วยปฏิบัติการวิจัยจุล ชีววิทยาเชิงระบบ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านชีววิทยาเชิงระบบ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก และผลิตโดยบริษัทไมโคร อินเจคชั่น จากัด (ประเทศไทย) ในต้นทุนราคาถูก ใช้งานง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือที่ซับซ้อน และมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ เทคนิค Real-time PCR ถึง 98.78% โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 15,000 ชุด/เดือน เพื่อช่วยส่งเสริมให้มีการตรวจเชิงรุกอย่างแพร่หลายและเข้าถึงได้มากขึ้น
รศ.ดร.สัญชัย พยุงภร ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีชุดตรวจคัดกรองโควิด19 ทั้งหมด 3 แบบ คือ ตรวจสารพันธุกรรม หรือ real-time PCR , Antibody Test และRapid Test โดยชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 COVID- 19 SCAN ที่ได้วิจัยพัฒนาขึ้นอยู่ในกลุ่มเดียวกับวิธีการตรวจสารพันธุกรรม โดยมีการประยุกต์ให้เครื่องมือมีราคาที่ถูกลงกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับราคาตรวจด้วย real-time PCR สำหรับการตรวจ ตัวอย่างการส่งตรวจสารจากระบบทางเดินหายใจ (Nasopharyngeal swab/Throat swab) หรือตัวอย่างน้ำลายที่ผ่านกระบวนการสกัดสารพันธุกรรม และการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมภายใต้อุณหภูมิเดียว (isothermal amplification) จากนั้นตรวจหาสารพันธุกรรมได้อย่างจำเพาะด้วยระบบ CRISPR-Cas12a เมื่อส่งสิ่งตรวจนั้นพบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 จะเกิดการเรืองแสง ภายใต้เครื่องกำเนิดแสงสีฟ้า (Blue light transilluminator) หากพบผลบวก จำเป็นต้องยืนยันผลด้วยวิธี real-time PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระการตรวจด้วยวิธี real-time PCR ที่มีจำนวนเครื่องและน้ำยาอยู่อย่างจำกัด
สำหรับระยะเวลาในการทราบผลโดยรวมทั้งกระบวนการใช้เวลาหากมีตัวอย่างไม่มาก กระบวนการตั้งแต่การสกัดสารพันธุกรรม การตรวจด้วยชุดตรวจ COVID-19 SCAN จนถึงการรายงานผล จะใช้เวลาทั้งหมด 90 นาที-/ ชั่วโมง ในกรณีที่มีตัวอย่างจำนวนมากอาจใช้เวลามากขึ้น ที่ผ่านมาได้มีการทดลองใช้จริงหน่วยไต โรงพยาบาลจุฬาฯ กว่า 100 ราย หรือที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับการรับรองและอนุญาตให้ผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เลขที่ T6400049 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564
ดร.นพัต จันทรวิสูตร อาจารย์ประจำภาควิชา ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า สำหรับน้ำยาที่ใช้กับชุดตรวจ COVID-19 SCAN เป็นการผสมวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยผ่านกระบวนการจำเฉพาะของทางจุฬาฯ ซึ่งชุดตรวจจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 เดือน และเน้นการตรวจด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำลาย ใช้การบ้วนน้ำลายลงในภาชนะเก็บ สามารถเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเองจากที่บ้าน และนำส่งที่ห้องปฏิบัติการได้ โดยงดดื่มน้ำและอาหารก่อนเก็บตัวอย่าง 30 นาที เมื่อเทียบกับการ swab ที่อาจมีการระคายเคืองหรืออาการเจ็บขณะถูกเก็บตัวอย่าง การเก็บตัวอย่างน้ำลายนั้นสะดวกกว่า โดยชุดตรวจ COVID-19 SCAN สามารถใช้ได้กับตัวอย่างสารพันธุกรรมที่สกัดจากการ swab หรือจากน้ำลายก็ได้
ในส่วนการจำหน่ายชุดตรวจ COVID-19 SCAN ไม่มีจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป เนื่องจากชุดตรวจ COVID-19 SCAN จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และต้องทำการตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ดังนั้น การใช้งานชุดตรวจจึงอยู่ในสถานพยาบาล หรือห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หากบุคคลทั่วไปสนใจทำการตรวจ สามารถติดต่อยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการใช้งานชุดตรวจ COVID-19 SCAN ในระดับการคัดกรองได้ แต่มีพบชุดตรวจลักษณะนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการรับรองจาก FDA ของสหรัฐ ที่ให้ใช้แบบ Emergency use แต่ยังไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทยและผ่านการรับรองจากทาง อย.
©2018 CK News. All rights reserved.