ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารได้พิจารณาแนวทางความช่วยเหลือลูกหนี้ตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะดำเนินการผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเติมสภาพคล่อง ซึ่งในส่วนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น จะพิจารณาให้เฉพาะในรายที่ได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้น
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ไม่สามารถปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำมากทั้งกระดานได้ เพราะจะกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร เนื่องจาก เรามีต้นทุนการเงินจากการระดมเงินเข้ามา เมื่อเราลดดอกเบี้ย ในขณะที่ มาร์จินอัตราดอกเบี้ยเราก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากอยู่แล้ว หรืออยู่ที่ประมาณ 1% ตรงนี้ ก็จะกระทบต่อผลการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการธนาคารได้พิจารณาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับในรายที่ต้องการเงินทุนใหม่ โดยได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อ 2 โครงการ วงเงินรวม 90, 000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากหรืออยู่ที่ประมาณ 4%ใน 3 ปีแรก ซึ่งในโครงการปกติธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 6%ต่อปี
โดยตามปกติแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่เราให้ระดับ 4% นี้ เราจะให้ลูกค้าที่มีประวัติดี ซึ่งจะค่อยๆทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลงมา แต่ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เราให้อัตรา 4% ซึ่งถือว่า ต่ำมาก ทั้งนี้ ต้นทุนการเงินเราจะอยู่ที่ประมาณ 2% ส่วนที่เหลือ 2-3% เป็นต้นทุนการดำเนินงาน
สำหรับ 2 โครงการสินเชื่อจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูอาชีพวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้กู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท 2.โครงการสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุนวงเงิน 60,000 ล้านบาท ไม่จำกัดวงเงินต่อราย
ทางด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 โดยตั้งเป้าเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการเติมเงินและลดภาระเงินกู้ โดยเฉพาะรายย่อยให้ได้ 1 ล้านราย ซึ่งที่ผ่านมา ได้อนุมัติเข้าช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้จำนวนกว่า 700,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 340,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรการที่เข้าไปช่วยเหลือมีทั้งพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย และปรับอัตราค่างวดให้อยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถชำระได้ และรวมถึง ปล่อยสินเชื่อใหม่โดยมาตรการนี้ครอบคลุมไปถึงลูกหนี้ที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีต่างๆทั้งกลุ่มท่องเที่ยวและค้าขายทั่วไป
สำหรับลูกหนี้ท่องเที่ยวนั้น ล่าสุดธนาคารได้ออกมาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ มีผลตั้งแต่งวดเดือนก.ค.- ธ.ค.2564 โดยให้สิทธิ์แก่ผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 250 ล้านบาท และมีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ พอร์ตลูกหนี้กลุ่มท่องเที่ยวนั้นมีอยู่ประมาณ 13,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ นอกเหนือจากความช่วยเหลือตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ธนาคารยังมีมาตรการเสริมสภาพคล่องโดยการให้สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน แก่ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยวอีกหลายมาตรการ โดยปัจจุบันมี 2 มาตรการที่ยังคงเปิดรับลงทะเบียน ได้แก่ 1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินให้กู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท 2.มาตรการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.1% วงเงินให้กู้สูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดารายละไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคลรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท
สำหรับลูกหนี้กลุ่มครูนั้น ปัจจุบันมีลูกหนี้อยู่ประมาณ 400,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณประมาณ 350,000 ล้านบาท ขณะนี้ ธนาคารได้จัดมหกรรมแก้ไขหนี้ครู โดยให้ลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนประสงค์เข้าร่วมโครงการได้แจ้งความจำนงมายังธนาคารภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
ทั้งนี้ มาตรการในการช่วยเหลือจะมีทั้งพักเงินต้น และลดดอกเบี้ย ระยะเวลานานสุด 2 ปี แต่จะช่วยเหลือในรายที่ได้รับความเดือดร้อนจริง ไม่เช่นนั้น จะเสียวินัยการชำระหนี้ และ ธนาคารเองก็จะไม่สามารถแบกรับภาระได้ไหว
สำหรับมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มต่างๆจะกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารระดับหนึ่ง เพราะการหยุดพักเงินต้นจะกระทบต่อเงินสดที่จะไหลเข้ามา และการลดดอกเบี้ยจะกระทบต่อรายได้ อย่างไรก็ตาม เราพยายามจะบริหารจัดการให้ไม่ให้กระทบต่อภาพรวมการดำเนินงานของธนาคาร โดยพยายามนำรายได้จากส่วนอื่นมาทดแทน
©2018 CK News. All rights reserved.