วันที่ 22 มิ.ย. 2564 มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เผยแพร่ข้อความระบุว่า ถ้าท่านผู้อ่านศึกษาถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและติดตามอ่านข่าวสารที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่บ่อยๆ คงพอจะทราบว่าประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์การเมือง (geo-politics) อย่างมากกับมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ สองประเทศคู่ปรับทางการค้าและอุดมการณ์เชิงระบบการปกครอง
เนื่องจากภาคเหนือของไทยอยู่ใกล้กับมณฑลยูนนานของจีนและยังเชื่อมต่อทั้งจีน พม่าไปยังมหาสมุทรอินเดีย การค้ายาเสพติด การสู้รบของกองกำลังต่างๆ ในพม่าที่อยู่ติดไทยล้วนเกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีน และประเทศจีนทั้งสิ้น ดังนั้นภาคเหนือของไทยจึงเป็นฐานสำคัญในการรวบรวมข่าวกรองเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย สถานการณ์ในพม่า ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อความมั่นคงของระบบประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้
นั่นคือที่มาว่าทำไมปีที่แล้วถึงมีข่าวที่ทางสหรัฐฯ กลับมาต้องตาต้องใจสนามบินอู่ตะเภาที่ตัวเองสร้างไว้ตั้งแต่สงครามเวียตนามอีกครั้ง และมีข่าวลือการพยายามปรับสนามบินให้รองรับเพื่อใช้ทางการทหารด้วย รวมถึงการที่สหรัฐฯ ก่อสร้างสถานกงสุลแห่งใหม่ บนพื้นที่ 16.5 ไร่ที่เชียงใหม่ด้วยงบประมาณสูงถึงเกือบหมื่นล้านบาท ซึ่งข่าวคาดว่าจะใช้เป็นฐานในการรวบรวมข่าวกรองเกี่ยวกับประเทศจีนนั่นเอง
แต่ดูเหมือนทางฝั่งจีนจะถือไพ่เหนือกว่า เพราะถ้ามองไปทางฝั่งแม่น้ำโขง จะเห็นว่าจีนเค้ามีกองเรือลาดตระเวนในลำน้ำโขง ขณะที่กัมพูชา ลาว ก็ล้วนแต่เป็นพวกเดียวกับจีน ชัดเจนว่าฝั่งนี้จีนมีฐานที่มั่นคง และถ้ามองไปฝั่งพม่าจากเดิมที่เคยปกครองมาโดยรัฐบาลพลเรือน (ปนทหาร) แต่ตอนนี้หลังจากมีการรัฐประหารไปแล้วแน่นอนว่าจีนคงกินขาดสหรัฐฯ เรื่องการมีบทบาทและความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารชุดนี้
มองแบบนี้แล้ว จีนคงไม่หยุดที่จะเดินหน้ารุกฆาตเพื่อสร้างอิทธิพลในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ One Belt One Road (OBOR) หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 การริเริ่มโครงการนี้ จีนมีเป้าหมายทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นช่วยระบายกำลังการผลิตของจีนในยุคเศรษฐกิจในประเทศตนถดถอย ช่วยสนับสนุนความต้องการด้านพลังงานของจีน และอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจอันเป็นผลจากยุทธศาสตร์นี้มาสร้างเสถียรภาพในเอเชียกลางและป้องกันความขัดแย้งในภูมิภาคนี้
ที่ร่ายยาวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะโยงว่าเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองประเด็นนี้ส่งผลต่อยุทธศาสตร์วัคซีนของรัฐบาลไทยเรานี่แหละครับ จะเหยียบเรือสองแคมเพื่อรีบเอาวัคซีนให้ประชาชนก็ต้องวางไพ่ดีๆ และเล่นเกมให้เป็นหน่อยล่ะครับ
ถ้าจับทางจีน ดูเหมือนจะซีเรียสเรื่องยุทธศาสตร์ OBOR อภิมหาโครงการที่จะเชื่อมโยงจีนไปทั่วโลก ตั้งแต่เอเชียถึงยุโรป ทั้งทางบกทะเล และจะแผ่อิทธิพลจีนไปทั่วโลกผ่านความร่วมมือในหลายด้าน ทั้งด้านนโยบาย การค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านการเงิน ซึ่งมีจีนเป็นจุดศูนย์กลาง แต่จิ๊กซอว์ส่วนของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้อย่างโครงการรถไฟรางคู่สายเหนือเพราะเป็นตัวเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่เค้ากำลังจะก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้สิ้นปีนี้แล้ว โดนยื่นหนังสือให้ไปไต่สวนความโปร่งใสของการประมูลเสียใหม่ ซึ่งโปรเจ็คต์รถไฟรางคู่ของเราถ้าล่าช้าออกไปก็เหมือนเป็นอุปสรรคกับยุทธศาสตร์ OBOR ของจีนเค้าไม่น้อย
ในขณะที่จะขอบริจาคจากสหรัฐฯ โอ้โห เค้ามีวัคซีนให้เลือกทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็คิดหนักว่าจะได้ชัวร์หรือมากน้อยแค่ไหนเพราะเป็นโปรแกรมที่เค้าออกมาช่วยหลาย ๆ ประเทศจะจัดสรรปันส่วนมาให้เราได้เท่าไหร่ก็ยังไม่รู้
ตอนที่โควิดกระหน่ำเศรษฐกิจไทยแบบรัฐบาลตั้งรับไม่ทัน แถมการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนที่ไม่มีความชัดเจน ยิ่งทำให้ประจักษ์ชัดว่าเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่ไทยเราต้องบริหารให้ดี ทั้งจีนและสหรัฐฯ ผมว่ามองขาด วัคซีนเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ประเทศไหนที่ยังแก้ปัญหาวัคซีนที่ลนก้นอยู่ตอนนี้ไม่ได้ก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่างเค้า แต่อย่าลืมว่าเราในฐานะประเทศที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์การเมืองก็มีแต้มต่อไม่น้อยในการเล่นเกมนี้ ขอให้เล่นให้เป็นเท่านั้นล่ะครับ
©2018 CK News. All rights reserved.