ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด - 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้าเกษตร และความต้องการซื้อสินค้าเกษตรบางชนิดมีแนวโน้มลดลง แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมาตรการบริหารจัดการเพื่อรับมืออย่างเร่งด่วน และทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้การค้าสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและเกิดความเชื่อมั่นต่อทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะผลไม้ไทยและผลิตภัณฑ์ผลไม้ไทย สินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประเทศ ในฐานะเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แม้ต้องเผชิญผลกระทบจากโควิด - 19 ส่งผลให้จีนที่เป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยมาโดยตลอดในตลาดผลไม้ มีการตรวจเข้มมาตรฐานมากขึ้น แต่ไทยยังรักษาคุณภาพผลไม้ส่งออก ให้มีทิศทางส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดี และแม้จะอยู่ในช่วงผลผลิตกระจุกตัวออกสู่ตลาด แต่สามารถขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานในระดับสากล
“สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทยมากนัก จีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก ยังมีความต้องการต่อเนื่อง อีกทั้งเชื่อมั่นได้ว่า รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรฯ และทุกหน่วยงาน เข้มงวดมาตรการทุกระดับ ตั้งแต่มาตรการสำหรับเกษตรกรชาวสวน ผู้ประกอบการ สถานประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) และมาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตร (ผลไม้) ตั้งแต่การพ่นยาฆ่าเชื้อต้นทางจากสวนผลไม้ จนถึงระบบขนส่ง โดยยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก WHO และ FAO ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทางจีนให้การยอมรับและแนะนำให้ประเทศ คู่ค้าปฏิบัติด้วยเช่นกัน"
รมว.กษ. กล่าวอีกว่า จีนยังได้ชื่นชมระบบบริหารจัดการส่งออกผลไม้ของไทยว่ามีประสิทธิภาพ ปลอดภัย โดยที่ผ่านมายังไม่เคยตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสในผลไม้และบรรจุภัณฑ์จากไทยแต่อย่างใด นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ยังได้จัดทำเอกสารดังกล่าวทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาจีน ส่งให้สำนักงานศุลกากรของจีน เพื่อยืนยันว่า ไทยได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง อีกทั้งทางสมาคมทุเรียนไทยยังได้ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด ยังได้มีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผลผลิตทุเรียนไทยต่อประเทศคู่ค้าสำคัญต่าง ๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์มากกว่า 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด โดยอันดับหนึ่งคือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด
จากข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง ประเทศที่นำเข้าผลไม้จากไทยมากที่สุด คือ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม สำหรับใน ปี 2564 (มกราคม – เมษายน) มีปริมาณการส่งออกดังนี้ 1) ทุเรียน มีปริมาณการส่งออก ปริมาณ 213,328 ตัน มูลค่า 28,615 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนสด ร้อยละ 95 ตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีน (ร้อยละ 72) ฮ่องกง (ร้อยละ 13) และเวียดนาม (ร้อยละ 12)
2) ลำไย มีปริมาณการส่งออก 209,388 ตัน มูลค่า 8,043 ล้านบาท การส่งออกลำไยและผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกลำไยสด กว่าร้อยละ 70 และรองลงมา คือ ลำไยอบแห้ง ร้อยละ 25 ตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีน (ร้อยละ 77) เวียดนาม (ร้อยละ 11) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 6) ทั้งนี้ จีน ยังคงมีความต้องการลำไยสดและลำไยอบแห้ง อย่างต่อเนื่อง และ
3) มังคุด มีปริมาณการส่งออก 2,293 ตัน มูลค่า 189 ล้านบาท โดยการส่งออกมังคุดและผลิตภัณฑ์ เป็นการส่งออกมังคุดสดเกือบทั้งหมด ตลาดหลัก ได้แก่ จีน (ร้อยละ 75) เวียดนาม (ร้อยละ 18) และฮ่องกง (ร้อยละ 4) ทั้งนี้ มังคุด ในปีนี้ผลผลิตภาคตะวันออกออกสู่ตลาดลดลงเกือบร้อยละ 50 จึงคาดว่าไม่มีปัญหาในเรื่องการส่งออก อีกทั้งตลาดจีนยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับทุเรียน
ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปัจจุบันเส้นทางการส่งออกไปยังจีนมีทั้งทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบัง ทางบก ได้แก่ เส้นทาง R9 จาก จ.มุกดาหาร ผ่านดานัง เข้าพักที่ฮานอย แล้วสู่ปักกิ่ง เส้นทาง R3A จาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน สปป.ลาว สู่ทางใต้ของจีนผ่านเมืองสิบสองปันนา คุนหมิง เส้นทาง R 12 จาก จ.นครพนม-ด่านท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว-จังหวัด Quang Binh จังหวัด Lang Son ของเวียดนามเข้าสู่จีน โดยผ่านด่านผิงเสียง มณฑลกว่างซี) และทางอากาศ (เช่าเหมาลำมารับทุเรียน) อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางบก ต้องผ่านเส้นทางหลักของประเทศลาวและประเทศเวียดนามไปสู่ประเทศจีน จึงทำให้มีความติดขัดล่าช้าตามด่านตรวจของทั้ง 2 ประเทศ ที่เพิ่มมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ซึ่งผู้ส่งออกของไทยจะต้องวางแผนและบริหารจัดการเวลาในการแจ้งนำเข้าสินค้าผลไม้ที่ด่านนำเข้าของจีนให้ทันต่อเวลา เพื่อไม่ให้เกิดการตกค้างของผลไม้ที่หน้าด่าน และที่ผ่านมาจีนได้เปิดด่านอนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากไทยได้จำนวน 3 ด่านคือ ด่านโม่หัน ด่านโหย่วอี้กวน และด่านรถไฟผิงเสียง แต่ในขณะนี้ได้อนุญาตให้นำเข้าได้ที่ด่านตงซิงโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2564 เป็นต้นมา จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ส่งออกผลไม้ไปจีนเพื่อช่วยแก้ปัญหารถติดสะสมบริเวณหน้าด่านโหย่วอี้กวน โดยเฉพาะในฤดูกาลส่งออกผลไม้
การขนส่งทางเรือ จากแหลมฉบังผ่านเวียดนาม ฮ่องกง ไปจีน ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ซึ่งเป็นการขนส่งผลไม้สดโดยการควบคุมอุณหภูมิในตู้สินค้าเย็น (Reefer) ในการรักษาคุณภาพของผลไม้สดให้คงสภาพสมบูรณ์ ก่อนถึงมือผู้บริโภคปลายทางในจีน และ การขนส่งทางอากาศ จีนได้มีการเช่าเหมาเครื่องบินมารับทุเรียนไทย 20 ตัน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 จากการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์แบบ Pre-Order จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะสามารถสร้างแบรนด์ผลไม้ไทย ซึ่งช่วยในเรื่องของการรับประกันคุณภาพทุเรียนได้เมื่อส่งถึงมือผู้บริโภค หรือตลาดตามที่เราได้กำหนดไว้ และต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ได้มีการจำหน่ายทุเรียนผ่านระบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-Order platform) กับมณฑลส่านซีในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ด้วยแพลตฟอร์มใหม่บนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ บริษัทเอกชน และสหกรณ์ผลไม้ อาทิ สหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์ทุเรียนไทย ในระดับสหกรณ์ผลไม้ (Cooperative Farm based Branding) ตามแนวทางเกษตรสร้างสรรค์ (Creative Agriculture) เกษตรกรชาวสวนทุเรียนและสหกรณ์จะสามารถขายได้ราคาสูงขึ้น โดยส่งออกทุเรียนทางเครื่องบินล็อตที่สองไปจีนจำนวน 25 ตัน (11,200 ลูก) แต่การจัดส่งโดยเครื่องบินก็มีราคาขนส่งสูง หากมีช่องทางการขนส่งในราคาที่ต่ำกว่า ก็จะเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้มากขึ้น .
©2018 CK News. All rights reserved.