ผลสำรวจเผย ! "เด็กไทย" เสี่ยงป่วยจากเรียนออนไลน์ผ่านมือถือ


10 มิ.ย. 2564, 08:38

ผลสำรวจเผย ! "เด็กไทย" เสี่ยงป่วยจากเรียนออนไลน์ผ่านมือถือ





วันที่ 9 มิ.ย. 64 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ต่ออุปสรรคในการที่บุตรหลานต้องกลับมาเรียนออนไลน์อีกครั้ง และมุมมองต่อการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ในระยะข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบการเรียนออนไลน์ได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็นแอปพลิเคชั่นด้านการศึกษาเพื่อเป็นช่องทางเลือกให้ผู้ปกครองอีกด้วย โดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

- ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย เผชิญความไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ ทั้งอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ต

แม้การเรียนออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเทอมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของผู้ปกครองในยุคที่มีการระบาดของโควิด-19 แต่จากผลสำรวจ พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่กว่า 79.1% ยังพบอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ โดยอุปสรรคสำคัญ คือ ความไม่พร้อมในอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ โดยพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนคิดเป็นสัดส่วน 50.9% ขณะที่การเรียนผ่านแท็บเล็ตคิดเป็น 34.2% และเรียนผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีประมาณ 32.6% ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานานก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียน

โดยกลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยจะมีปัญหาเรื่องของอุปกรณ์การเรียนอย่างคอมพิวเตอร์/แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มที่มีบุตรหลานในวัยเรียนมากกว่า 1 คน จะเผชิญกับข้อจำกัดในการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์ และบางส่วนมองว่าต้องมีรายจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น (ข้อมูลของ Hootsuite ระบุ ประชากรไทยส่วนใหญ่ครอบครองโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 98.9% ขณะที่มีคอมพิวเตอร์ (แบบตั้งโต๊ะและพกพา) และแท็บเล็ตคิดเป็น 48.5% และ 34.7% ของกลุ่มประชากรที่มีช่วงอายุ 16-64 ปี ตามลำดับ

ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า คนไทยที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่ยังใช้ระบบเติมเงิน ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีเพียง 9-10 ล้านคน อีกทั้งผู้ปกครองยังเผชิญปัญหาจากข้อจำกัดเรื่องความรู้ทางเทคโนโลยี ทำให้บางครั้งเมื่อเกิดปัญหาระหว่างการเรียนออนไลน์ต้องใช้เวลาในการแก้ไข




นอกจากนี้ ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการเรียนออนไลน์อื่นๆ อาทิ ผู้ปกครองไม่มีเวลาในการดูแลบุตรหลานระหว่างการเรียนออนไลน์ รูปแบบการสอนที่ไม่จูงใจทำให้เด็กนักเรียนมีสมาธิไม่เพียงพอ เกิดปัญหาการไม่เข้าใจบทเรียน ความไม่เสถียรของระบบอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง และปัญหาสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์

สำหรับมุมมองของผู้ปกครองที่มีข้อจำกัดต่อการเรียนออนไลน์ มองว่า เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นและนักเรียนสามารถกลับไปเรียนได้ ทางโรงเรียนอาจจะพิจารณาจัดเรียนเพิ่มเติมวันเสาร์ หรือเพิ่มเวลาเรียนในวันธรรมดา และปรับลดเวลากิจกรรมบางประเภทลงเพื่อไม่ให้กระทบการเรียน

-ในระยะยาวการเรียนออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น แต่คุณภาพการศึกษายังเป็นประเด็นที่ผู้ปกครองกังวล

เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวมาใช้รูปแบบออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นเฉพาะสำหรับการเรียนที่ช่วยให้การสอนออนไลน์เสมือนอยู่ในห้องเรียนจริงมากขึ้น และพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อการศึกษา และในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รูปแบบการศึกษาออนไลน์ คงจะเข้ามามีบทบาทในด้านการศึกษามากขึ้น อย่างการเรียนเสริมทักษะเพิ่มเติมทางออนไลน์ หรือเทรนด์การศึกษาใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่าง Hybrid Homeschooling เป็นรูปแบบการเรียนที่มีการผสมระหว่างการเรียนออนไลน์และการเรียนที่โรงเรียนเป็นบางวัน ดังนั้น กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกการศึกษาในยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน หลายฝ่ายอาจจะต้องมีการวางแผนและสร้างระบบการเรียนออนไลน์ให้เป็นมาตรฐาน

จากผลสำรวจสะท้อนว่า พบว่า ผู้ปกครองยังมีความกังวลต่อรูปแบบการเรียนออนไลน์ โดยสิ่งที่ผู้ปกครองมีความกังวลมากที่สุด คือ คุณภาพการศึกษา (คิดเป็น 56.4%) เด็กนักเรียนไม่มีสมาธิในการเรียน เนื่องจากการเรียนออนไลน์ต้องมีแรงจูงใจและมีทักษะในการบริหารจัดการเวลาเรียน รูปแบบของการเรียนออนไลน์มีข้อจำกัดในการโต้ตอบระหว่างผู้สอนและผู้เรียน และเหมาะสำหรับบางวิชาที่สอนทฤษฎีแต่จะไม่เหมาะในวิชาที่ต้องมีการปฏิบัติ


ขณะที่ ผู้ปกครองประมาณ 48.2% มองว่า การเรียนออนไลน์ระยะยาวจะส่งผลในเรื่องของสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุตรหลาน เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น สายตา ของนักเรียนและไม่เหมาะกับเด็กนักเรียนเนื่องจากเด็กต้องมีสังคมและเพื่อน นอกจากนี้ ผู้ปกครองกว่า 37.8% มองในเรื่องของข้อจำกัดและความไม่ปลอดภัยของเทคโนโลยี โดยมีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่จำกัด และกังวลต่อภัยที่มากับโลกออนไลน์ เช่น ปัญหาจากไวรัส และมิจฉาชีพ

โดยสรุป สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังพบคลัสเตอร์การระบาดใหม่ต่อเนื่องในกรุงเทพฯ ทำให้การกลับมาเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิ.ย. 64 ยังมีความไม่แน่นอนสูงในหลายพื้นที่ ซึ่งหนึ่งในแนวทางลดผลกระทบ คือ การเรียนออนไลน์ ที่จะยังเป็นช่องทางเลือกของการศึกษาแม้ว่าจะมีข้อจำกัด และเพื่อที่จะให้การเรียนผ่านสื่อออนไลน์มีประสิทธิผล ก็อาจจะต้องมีการพัฒนาหรือปรับเนื้อหาให้น่าสนใจอย่างการใช้คลิปวิดีโอประกอบการสอน การเปิดช่องทางสื่อสารระหว่างครูและนักเรียนแบบเรียลไทม์ (Real Time) รวมถึงการจัดทำคลิปบันทึกการสอนเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าไปดูและทบทวนได้ตลอดเวลา เป็นต้น

สำหรับนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ก็จะเกิดช่องว่างและความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ซึ่งเบื้องต้นทางการอาจจะแจกบทเรียนพร้อมสรุปและแบบฝึกหัด เพื่อให้นักเรียนสามารถทำความเข้าใจก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ นอกจากนี้ อาจจะมีการพัฒนาคอนเทนต์การศึกษาตามหลักสูตรของแต่ละระดับชั้นในช่องทางออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าไปเรียนเพิ่มเติมและทบทวนความรู้ได้ตลอดเวลา และเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ปกครองบางกลุ่มที่เผชิญกับปัญหาด้านการเงิน ภาครัฐอาจจะร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมจัดแพคเกจอินเทอร์เน็ตพิเศษสำหรับนักเรียนในการเรียนออนไลน์

ท้ายที่สุด โจทย์ในระยะกลางถึงยาว ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกการศึกษาที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น การพัฒนาการศึกษาในระบบให้มีคุณภาพและเท่าเทียม ด้วยการพยายามลดข้อจำกัดและเติมเต็มช่องว่างในทุกๆ ด้านโดยให้ความสำคัญกับพัฒนาการของนักเรียนเป็นหลัก เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันดำเนินการ
 


คำที่เกี่ยวข้อง : #เรียนออนไลน์   #มือถือ   #ป่วย  









©2018 CK News. All rights reserved.