วันที่ 30 พ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ฉบับที่ 1 และ 2 ให้ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด 19 สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยได้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยการปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในกลุ่มประชาชนหลักล้านราย แต่ด้วยสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน จึงอาจจะมีบางรายที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน
ดังนั้น ทาง สธ.จึงดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฯ ฉบับก่อนหน้า ออกเป็นประกาศฉบับที่ 3 กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชน ให้บริการแก่บุคคลที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เฉกเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย
สำหรับ ประกาศ “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการ ดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19” (ฉบับที่ 3) นั้น ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เว้นแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด จากสถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนด สามารถเข้ารับการดูแลรักษาได้ฟรีจากสถานพยาบาลเอกชน
นอกจากการเพิ่มสิทธิเบิกจ่ายในข้างต้นแล้ว ประกาศฯ ฉบับที่ 3 ยังได้เพิ่มสิทธิในการเบิกจ่ายค่าพาหนะขนส่งผู้ป่วยทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 เป็นไปอย่างราบรื่น และเหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบันด้วย
©2018 CK News. All rights reserved.