จากกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจนุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และ การสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ สถานการณ์การฉุกเฉินอื่นๆ ขณะที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยแพร่ข้อบังคับสำนักราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติการดำเนินการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
วันที่ 27 พ.ค. 64 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ความชัดเจนได้เกิดขึ้นวันนี้ เมื่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกข้อกำหนดหรือเรียกว่า คำสั่งลูกตามมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อขยายความ โดยมีความชัดเจนขึ้น ดังนี้
1. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีอำนาจทางกฎหมายของเขาที่จะออกประกาศแบบนี้ได้ เพื่อที่จะนำเข้า วัคซีน ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถ้าไม่ออกประกาศอย่างนี้มาจะไม่สามารถนำเข้าได้ และการออกประกาศดังกล่าวเพื่อที่จะมีอำนาจนำเข้า แต่ไม่ใช่ว่าสามารถนำเข้ามาโดยอิสระ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เช่น ขออนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าไม่ออกประกาศมาก็จะไม่สามารถขอยื่นอะไรได้เลย หรือ เรียกว่าตกคุณสมบัติ
2. เป็นการใช้อำนาจในช่วงวิกฤติสถานการณ์ โควิด-19 เท่านั้น และใช้ช่วงที่วัคซีนขาดแคลน โดยข้อกำหนดที่ นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อธิบายว่า เมื่อสถานการณ์นี้คลี่คลายอำนาจนี้ก็จะหมดไป หรือเมื่อผลิตวัคซีนขึ้นมาในประเทศได้อย่างเพียงพอ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะหยุดการนำเข้าทั้งหมด
3. ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ ดังนั้นประกาศดังกล่าวเพื่ออุดช่องว่างเท่านั้น
สำหรับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ดังกล่าว ไม่ซ้ำซ้อนกับทางกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังดำเนินการอยู่ เพราะต้องไปขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่ดี เพียงแต่เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เหมือนกับทางเอกชนหรือบุคคลใดอื่นๆ ที่ไปติดต่อแล้วต้องกลับมาขออนุญาตกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีศักยภาพที่จะไปติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น สปุตนิก หรือแม้แต่ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา เหมือนกับเอกชนหลายคนที่มีศักยภาพ แต่ที่ผ่านมา เอกชนไม่มีปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติ แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ จึงต้องออกประกาศมาว่า ตัวเองมีคุณสมบัติ แล้วจะมีสถานะเทียบเท่ากับเอกชนทั้งหลาย โดยต้องผ่าน อย.ร่วมทั้ง ยาฟาวิพิราเวียร์ วัคซีน และเวชภัณฑ์ ไม่ว่าตัวใดก็ต้องมาขอ อย.อยู่ดี โดยหลังจากนี้ จะมีขีดความสามารถไปติดต่อเองได้ และเมื่อ อย. เห็นชอบก็เอาเข้ามาได้ แต่ทั้งหมดใช้งบประมาณของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง โดยไม่ได้มาของบประมาณของรัฐ เพราะไม่เช่นนั้น กระทรวงสาธารณสุขก็จะไปทำเอง
ในการที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ต้องทำเช่นนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.ยา คนที่จะนำเวชภัณฑ์ เข้ามาได้ ถ้าเป็นราชการ คือ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็เข้าข่ายตรงนี้อยู่แล้ว แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไม่เข้าข่าย เขาจึงต้องออกประกาศสถานะเขาขึ้นมา หากในกรณีถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ เขาก็มาแบบเอกชนเขาทำได้อยู่ วันนี้เอกชนหลายเจ้าก็ทำกันอยู่
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ได้ตนอธิบายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการศบค. พร้อมทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบแล้ว
©2018 CK News. All rights reserved.