เมื่อเวลา 09.40 น.วันที่ 27 พฤษภาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบและมีผลบังคับไปแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ อาทิ การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง อัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดยปรับจากอัตราคงที่ร้อยละ 7 ครึ่ง ต่อปี เป็นร้อยละ 3 ต่อปี และร้อยละ 5 ต่อปีตามลำดับ ทั้งนี้ กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้ ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น
โดยนายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวว่ามาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก้ประชาชน ซึ่งคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอต่อครม.ว่า อัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานกว่า 95 ปี โดยมิได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ และสภาพเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันที่มีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปี จึงทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยตามกฎหมายที่กำหนดไว้สูงเกินสมควร ส่งผลให้เกิดการประวิงเวลาฟ้องร้องดำเนินคดีของเจ้าหนี้เพื่อหาประโยชน์จากความไม่เหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย
นายอาคม กล่าวต่อว่า ปรากฎข้อเท็จจริงว่าในสัญญามีการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้อย่างมาก เจ้าหนี้จำนวนหนึ่งได้กำหนดวิธีการคำนวนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้อย่างมาก เมื่อผิดนัดหลายงวดติดต่อกันดอกเบี้ยผิดนัดก็สะสมเป็นจำนวนมากให้ทำให้ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เกิดเป็นหนี้เสีย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหากับการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางจำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ได้เช่นเวลาปกติ
“กระทรวงการคลังจึงมีความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องมีการแก้ไข และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ยืนยันว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยในกฎหมายที่มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว
©2018 CK News. All rights reserved.