เมื่อวันที่ 22 พ.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ที่พบว่ามีเพิ่มขึ้นมากในพื้นกทม.และปริมณฑล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหมในฐานะผอ.ศบค.ได้ติดตามความพร้อมของจำนวนเตียงผู้ป่วยกลุ่มสีแดง (อาการหนัก) และเหลือง (มีอาการ) เพื่อให้มั่นใจว่ามีเพียงพอต่อการรองรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมีอาการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า จากข้อมูลระบบ Co-ward ณ วันที่ 20 พ.ค. มีจำนวนเตียงทั้งหมดในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ในพื้นที่กทม. จำนวน 20,652 เตียง ผู้ป่วยครองเตียง 61 เปอร์เซ็นต์ ยังว่างอยู่ 7,905 เตียง ในพื้นที่เขตสุขภาพ 1-12 จำนวน 40,648 เตียง ผู้ป่วยครองเตียง 39 เปอร์เซ็นต์ว่างอยู่ 24,786 เตียง และหากแบ่งตามอาการความรุนแรง จากข้อมูลทั่วประเทศมีผู้ป่วยครองเตียง ระดับสีแดง 69 เปอร์เซ็นต์ ระดับสีเหลือง 54 เปอร์เซ็นต์และระดับสีเขียว 44 เปอร์เซ็นต์
น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า ส่วนพื้นที่กทม.และปริมณฑลซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วประเทศ ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีแผนขยายจำนวนเตียงโรงพยาบาลบุษราคัมอีก 1 พันเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยมีอาการที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในภาพรวมมีการบริหารจัดการที่ดี มีบุคลากรทางการแพทย์สลับเข้ามาดูแล ใช้กล้องซีซีทีวีเพื่อติดตามดูแลผู้ป่วย
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พบในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็นคลัสเตอร์ กระจายอยู่ในแคมป์ก่อสร้างในหลายเขตของกทม.นั้น คณะกรรมการโรคติดต่อกทม. เห็นชอบแนวทางการควบคุมพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้าง เขตหลักสี่ โดย 1.ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน 2.จัดการดูแลสุขอนามัยของผู้ที่อยู่ในแคมป์ 3.ส่งมอบอาหาร 4.จัดทีมแพทย์ดูแลรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ติดเชื้อที่อยู่ภายใน และ 5.หากพบผู้มีอาการป่วยจะนำส่งโรงพยาบาลต่อไป ส่วนการดูแลแคมป์คนงานก่อสร้างอื่นๆ จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ 1.แคมป์คนงานก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ก่อสร้าง หากพบผู้ติดเชื้อให้ดำเนินการควบคุมพื้นที่เช่นเดียวกับแคมป์คนงานเขตหลักสี่ โดยผู้ที่อยู่ภายในยังสามารถทำงานได้ตามปกติ และ 2.แคมป์คนงานก่อสร้างที่ไม่ได้อยู่พื้นที่เดียวกับสถานที่ก่อสร้าง ให้กักตัวผู้ที่ติดเชื้อในพื้นที่แคมป์ซึ่งเจ้าของต้องจัดให้เหมาะสม ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตและสำนักอนามัย และผู้ที่ไม่ติดเชื้อที่ต้องเดินทางไปทำงานจะต้องแจ้งเส้นทางการเดินทางต่อเขตต้นทางและปลายทาง โดยจะต้องไม่จอดหรือหยุดพักระหว่างทาง และปฏิบัติตามมาตรการอื่นๆที่กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้ สำนักอนามัยจะจัดทีมลงพื้นที่เสี่ยงเพื่อตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 ก.ย. หมุนเวียน 6 กลุ่มเขต เพื่อลดการเดินทางของประชาชนให้ได้มากที่สุดด้วย
"นายกรัฐมนตรีห่วงใยและติดตามการดำเนินการในพื้นที่กทม.และจังหวัดโดยรอบอย่างใกล้ชิด ยืนยันดูแลทุกชีวิตให้ดีที่สุด ไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย มั่นใจแนวทางที่สาธารณสุข กทม.และหน่วยงานต่างๆที่ร่วมกันดำเนินการอยู่นี้ครอบคลุมการเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก การดำเนินการฉีดวัคซีน จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้" น.ส.รัชดากล่าว.