เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นาย อัลเบิร์ต บูร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไฟเซอร์ ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับบริษัทไบออนเทคของประเทศเยอรมนี โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงพนักงานของบริษัทไว้ในเว็บไซต์ อ้างว่า ได้นำเอาระบบกำหนดราคาหลายระดับมาใช้กับการจำหน่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของตน โดยขายในราคาแพงให้กับชาติที่พัฒนาแล้ว แต่จะลดระดับราคาลงมาครึ่งหนึ่งสำหรับชาติที่มีรายได้ปานกลาง ส่วนชาติยากจนนั้นสามารถซื้อได้ในราคาทุน
นาย บูร์ลา ระบุว่า ที่ผ่านมามีแต่เพียงชาติพัฒนาแล้วที่มั่งคั่งเท่านั้นที่ออร์เดอร์วัคซีนของบริษัทเข้ามา ทำให้รู้สึกวิตกอยู่เช่นเดียวกัน ทำให้ตนพยายามติดต่อผู้นำของชาติรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำหลายประเทศทางจดหมาย โทรศัพท์ หรือด้วยการส่งข้อความสั้น เรียกร้องให้เร่งจองวัคซีนของบริษัทเพราะปริมาณการผลิตมีจำกัด
โดยอ้างไว้ในจดหมายว่า เหตุผลที่ชาติกำลังพัฒนาไม่สั่งจองวัคซีนของบริษัท น่าจะเป็นเพราะเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีซึ่งยังไม่เคยผ่านการใช้งานจริงมาก่อน หรือไม่ก็ประเทศเหล่านั้น มีวัคซีนที่ผลิตได้ในท้องถิ่นเป็นทางเลือกอยู่ก่อนแล้ว
ทั้งนี้ จากรายงานทราบว่า จดหมายดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเกิดการถกเถียงกันอย่างหนักเรื่องความสามารถในการเข้าถึงวัคซีน ที่ส่งผลให้วัคซีนส่วนใหญ่ถูกกักตุนโดยชาติพัฒนาแล้วที่มั่งคั่ง ในขณะที่หลายชาติกำลังพัฒนาขาดแคลนวัคซีนขณะที่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ๆ ส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ในจดหมาย ซีอีโอของไฟเซอร์ ระบุไว้ว่า ในปีนี้บริษัทมีแนวโน้มจะผลิตวัคซีนและจัดส่งตามออร์เดอร์ได้ราว 3,000 ล้านโดสให้กับประเทศต่างๆ กว่า 116 ประเทศ โดยวัคซีนที่จัดส่งไปแล้วที่ผ่านมาราว 450 ล้านโดสนั้นตกไปอยู่ในมือของประเทศมั่งคั่งเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่มีอีกราวกว่า 1,000 ล้านโดสหรือราว 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ผลิตได้ จะถูกส่งไปยังชาติที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำภายในปีนี้
นายบูร์ลา อ้างไว้ในจดหมายว่า ขายวัคซีนให้สหรัฐอเมริกาในราคา 1 โดส 2 เข็ม 39 ดอลลาร์ (ราว 1,211 บาท) ในขณะที่ขายให้โคลัมเบียในราคา 12 ดอลลาร์ต่อเข็ม (ราว 373) และแอฟริกาใต้ตกลงสั่้งซื้อในราคาเพียง 10 ดอลลาร์ต่อโดส (ราว 310บาท) ซึ่งทำให้เมื่อครบ 2 เข็ม โคลัมเบียจะใช้จ่ายเพียง 24 ดอลลาร์หรือ 745 บาท ส่วนแอฟริกาใต้อยู่ที่เพียง 620 บาท
มีรายงานอีกว่า แอฟริกาใต้ซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ราคา 5.25 ดอลลาร์ต่อเข็ม หรือราว 10.50 ดอลลาร์ต่อโดส (326 บาท) เท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก มติชน
©2018 CK News. All rights reserved.