แหล่งข่าวจากวงการส่งออกยางพารา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการส่งออกยางในปี 2564 ปรับดีขึ้นมาก โดยจากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุดรายงานว่าการส่งออกเดือนมีนาคม มีปริมาณ 349,427 ตัน เพิ่มขึ้น 65.50% มีมูลค่า 587 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 109.18% ส่งผลให้ยอดส่งออกยางในไตรมาสแรกมีปริมาณ 870,030 ตัน เพิ่มขึ้น 10.68% มูลค่า 1,441 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 38.14% โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดอันดับหนึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึง 32% มีความต้องการยางเพิ่มขึ้น 17%
ตลาดที่รองลงมาทั้งมาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐ เติบโตขึ้นทั้งหมด และที่สำคัญมีตลาดอินเดีย ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 127% และไม่เพียงเฉพาะยางพาราเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์จากยางก็เพิ่มขึ้นด้วย มีมูลค่า 3,932 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.54%
“การประมูลขายสต๊อกยางเก่า 1 แสนตันที่เก็บมาถึง 9 ปี แม้ว่าจะมีผู้เสนอราคาเข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว และอาจจะมีผลต่อราคาตลาดในช่วงสั้น แต่แนวโน้มจะดีต่อราคาในระยะยาว เพราะจะไม่มีสต๊อกมาเป็นแรงกดดันต่อผลผลิตยางที่กำลังจะออกสู่ตลาดในปลายเดือน พ.ค.นี้ ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าภาพรวมการส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวได้กว่า 3.7 ล้านตัน ส่วนราคาส่งออกขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นมาถึง 70 บาทอีกครั้ง ส่วนราคาน้ำยางสดที่ 61.50 บาท และยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 66.02 บาท”
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 ถือว่าสถานการณ์ราคายางพาราในประเทศมีเสถียรภาพมาก โดยราคายางยังปรับตัวในทิศทางดีต่อเนื่อง ตอนนี้ราคายางแผ่นรมควันอยู่ในระดับ 60-65 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจัยหลักจากปริมาณยางออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดกรีด และสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับผู้ประกอบการมีความต้องการยาง เพื่อส่งมอบและขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง
อีกปัจจัยสำคัญการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจีน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากจีนเริ่มกลับมาเป็นปกติ เริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลในการลงทุน จึงส่งผลให้ทิศทางราคายางของไทยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
โดยเฉพาะแนวโน้มความต้องการน้ำยางข้นของโลก ส่งผลให้ปีนี้ปริมาณการใช้น้ำยางข้นในประเทศจะเพิ่มขึ้นอีก “เท่าตัว” เรียกได้ว่ายางแทบไม่พอขาย ขณะนี้ไทยมีผลผลิตน้ำยางข้นประมาณ 1 ล้านตัน ส่วนหนึ่งจะส่งไปจีนและมาเลเซีย เราใช้เองเพียง 1 แสนกว่าตัน แต่ปีนี้ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ดังนั้น จึงคาดว่าในอนาคตโรงงานผลิตถุงมือยางจะเปลี่ยนมาใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่ายางสังเคราะห์ แต่มีกำไรสูงกว่า การใช้ยางธรรมชาติมีโอกาสทำกำไรมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 2 โดยเข้าสู่การจ่ายเงินงวดสุดท้าย คือ งวดที่ 6 ประจำเดือนมีนาคม 2564 โดยจะเริ่มจ่ายในวันที่ 30 เมษายน ดังนี้ ราคายางแผ่นดิบเฉลี่ย 61.08 บาท/กก. รัฐบาลประกัน 60 บาท/กก., ราคาน้ำยางสด 58.91 บาท/กก. รัฐบาลประกัน 57 บาท/กก. และราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) 22.63 บาท/กก. รัฐบาลประกัน 23 บาท/กก. ซึ่งเป็นชนิดเดียวที่มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง 0.37 บาท/กก. รวม 149.79 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานโครงการ ที่ผ่านมาจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาแล้ว 7,290.18 ล้านบาทให้ 1,377,935 ราย
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) กล่าวว่า จากอานิสงส์สถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มปริมาณความต้องการใช้ยางเพื่อผลิตถุงมือจะสูงไปจนถึงปี 2568 ทำให้ความต้องการน้ำยางสดยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคายางน่าอยู่ในระดับ 60 บาท/กก. หรือมากกว่าทั้งปี
“กรณีประมูลยางเก่า 1.4 เเสนตันนั้น จนถึงขณะนี้ทำไม กยท.ยังไม่เปิดราคาประมูล เป็นที่น่าสังเกตว่าล็อกสเป็กหรือไม่ เพราะกำหนดคุณสมบัติโดยไม่มีการกำหนดราคากลาง หากมีการมัดจำ 30% จะมีราคามูลค่าเท่าไร ถ้าหากต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ราคากลางจะผิดเงื่อนไขในทีโออาร์หรือไม่ นั่นอาจทำให้ราคาขายอยู่ที่ 35-37 บาท แต่ปัจจุบันราคาขี้ยาง 47 บาท/กิโลกรัม
ซึ่งที่จริงควรทยอยไปขายตลาดกลางจะดีกว่า ตลาดละ 100 ตันก็สามารถทำได้ เกษตรกรได้รับประโยชน์เต็ม ๆ ดังนั้น ทั้งหมดนี้ไม่ใช่วิธีการประมูล แม้ว่าจะมีเงื่อนไขให้บริษัทที่ประมูลต้องรับซื้อเพิ่มอีก 1 เท่า แต่เขาก็ต้องซื้ออยู่แล้ว ไม่ซื้อจะดำเนินธุรกิจปกติอย่างไร ถ้าไม่ซื้อจากสถาบันเกษตรกร จะซื้อจากที่ไหน จะยิ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรายอื่นๆ”
Photo by Jonathan KLEIN / AFP
©2018 CK News. All rights reserved.