วันที่ 3 พ.ค. 2564 มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ประชุมหารือกลุ่มย่อย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นัดพิเศษ ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อโควิด-19 และรายงานการให้บริการวัคซีนโควิด-19 โดยจะพิจารณามาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เสนอโดย ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะกรณีคลัสเตอร์ชุมชนคลองเตย
โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัรมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมหารือเร่งด่วนเพื่อเตรียมออกมาตรการหลังหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักที่ชุมชนคลองเตย กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสถานการณ์การติดเชื้อจำนวนสูงขึ้น และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 31 รายในวันเดียวกันนี้
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าการประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ จะหาข้อสรุปเตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อเตรียมรองรับหากมีการแพร่ระบาดในชุมชนจำนวนมาก ตามที่มีรายงานว่า สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีหนังสือถึงผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่า นายกรัฐมนตรี มีบัญชาและห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างและพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานคร จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเหมาะสมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อเตรียมการรองรับหากมีการแพร่ระบาดในชุมชนจำนวนมาก เป็นการลดภาระด้านสาธารณสุขในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดทางด้านบุคลากรทางการแพทย์และเตียงผู้ป่วย
ซึ่งกระทรวงกลาโหม พิจารณาแล้วเห็นว่าชุมชนคลองเตย และชุมชนใกล้เคียงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีสภาพแออัด ประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กรณีการพบการติดเชื้อหากไม่นำเข้าสู่ระบบสาธารณสุขโดยเร็วและทันเวลา จะส่งผลให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข
ดังนั้น จึงขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการใช้อาคาร โกดังสเตเดี้ยม เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยใช้ศักยภาพและสถานที่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นไปตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ทั้งนี้ กองบัญชาการกองทัพไทย โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง หรือ ศปม.จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการปฏิบัติและสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามดังกล่าวตามขั้นตอนต่อไป
©2018 CK News. All rights reserved.