"คมนาคม" ลุยช่วยคลัง ทำแผนฟื้นฟูคู่ขนานการบินไทย ก่อนชง ครม.


30 เม.ย. 2564, 09:26

"คมนาคม" ลุยช่วยคลัง ทำแผนฟื้นฟูคู่ขนานการบินไทย ก่อนชง ครม.




วันที่ 29 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคม ได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งการประชุมดังกล่าวสืบเนื่องจากการประชุมหารือเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ที่มีการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา การบินไทย ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน และมี, นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พร้อมตัวแทน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ,ที่ปรึกษาทางการเงิน ,บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย และ บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุมนั้น ซึ่งในที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุป

ขณะเดียวกันในที่ประชุมทางกระทรวงคมนาคมมองว่า ในแผนแก้ไขปัญหาการบินไทยที่จะหาทางออกร่วมกันนั้นมีรายละเอียดจึงหารือคลังเพื่อขอแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่ ผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย และ กระทรวงคลังทำขึ้น มาประชุมพิจารณาคู่ขนาน เพื่อช่วยหาทางออกให้การบินไทย ก่อนที่จะมีการเสนอให้ นายกรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ทางนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางข้อสรุปที่จะเดินหน้าต่อของการบินไทยเตรียมไว้ ก่อนที่จะมีการโหวตจากเจ้าหนี้การบินไทยประมาณ 13,000 รายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ว่าจะรับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยภายใต้กระบวนการของศาลล้มลายกลางหรือไม่ ซึ่งหากไม่ผ่านความเห็นชอบเป็นครั้งที่ 3 จะมีผลให้การบินไทยต้องล้มละลาย หมดสภาพความเป็นสายการบินแห่งชาติในทันที



อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลังได้มีความพยายามที่จะให้ การบินไทย กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งด้วยการให้หน่วยงานกระทรวงคลังเข้ามาซื้อหุ้นการบินไทยจากกองทุนวายุภักษ์ ขณะเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้มีความพยายามที่จะรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่ออังคารที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงความคืบหน้าของการดำเนินงาน และแผนที่จะทำต่อไปรวมทั้งแนวทางการเพิ่มทุนในการบินไทยกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งในที่ประชุม ครม. ได้มีการทักท้วงทั้งจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ว่าการรายงานดังกล่าวของกระทรวงคลัง ขอไม่ให้เป็นการลงมติ หรือเห็นชอบตามแนวทางที่คลังนำเสนอ เพื่อไม่ให้เป็นผลผูกพันธ์ตาม มติ ครม. ต่อไป และขณะนี้การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจถือเป็นเอกชน ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจภาครัฐเอื้อประโยชน์ แทรกแซงเอกชนได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงคมนาคมก่อนหน้าที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมาได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา การบินไทยที่เป็นไปได้ที่ภาครัฐสามารถนำพิจารณา ใน 2แนวทาง คือ ทางเลือกที่ 1 ดำเนินการตามที่กระทรวงการคลัง และ การบินไทย เสนอให้รัฐเข้าซื้อหุ้นการบินไทย ให้ได้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ และ ทางเลือกที่ 2 เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ เพื่อกำหนดเป็นสายการบินแห่งชาติในอนาคต ขณะเดียวกันปล่อยให้ การบินไทย เป็นบริษัทเอกชน เช่นเดิมและดำเนินการไปตามกระบวนการฟื้นฟูของศาลต่อไป

นอกจากนี้ในแนวทางเลือกที่ทางกระทรวงคมนาคมเสนอยังได้มีการเปรียบเทียบให้เห็น แนวทางที่1 หากรัฐเข้าไปซื้อหุ้นการบินไทยจะมีความเสี่ยงตามทั้งในเรื่องของ พ.ร.บ. และกฎหมายต่างๆที่ทำให้เกิดเป็นภาระทั้งบริษัท และ รัฐ,ขณะเดียวกันรัฐจะตอบสังคมอย่างไรกรณีเปลี่ยนสภาพไปมา,ส่วนพนักงานที่ออกไปแล้วอาจกลับมาฟ้องร้องได้ ,นอกจากนั้นรัฐอาจจะต้องมีภาระสนับสนุนเงินทุนในรปูแบบต่างๆอีก ปีละกว่า 50,000 ลบ. ตาม KPI ของ สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ(สคร.) โดยรัฐอาจ จำเป็นต้องเข้าไปค้ำประกันเป็นช่วงเวลา ไม่น้อยกว่า 3-5 ปี จนกว่าการบินไทยจะกลับมามีกำไร ทำให้คาดว่า รัฐต้องใช้เงินค้าประกันหรือสนับสนุนเงินลงทุนกว่า 150,000 – 250,000 ล้านบาทใน 3-5 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันหากแผนฟื้นฟูทำไม่สำเร็จภาระจะกลับมารัฐทันที ที่สำคัญปัจจัยความสำเร็จต่างๆของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่คมนาคมเสนอไว้ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร.นั้นได้มีการดำเนินการหรือยัง หากยังจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแผนฟื้นฟูสำเร็จ


ส่วนแนวทางเลือกที่ 2 รัฐตั้งองค์กรใหม่และให้ การบินไทยดำเนินการฟื้นฟูต่อไปนั้น จะเห็นว่า หากรัฐตั้งองค์กรใหม่ขึ้นเป็นสายการบินแห่งชาติในอนาคต ข้อดีคือบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเนื่องจากเป็นการดำเนินการจากเล็กไปใหญ่ ไม่มีหนี้สินใช้เงินลงทุนไม่เกิน 50,000 ล้านบาท บริษัทใหม่สามารถคัดบุคลากรใหม่ สามารถนำมืออาชีพทั้งจากภายนอก และ ภายในองค์กรการบินไทยเข้ามาร่วมงาน ส่วนไทม์ไลน์ของการจัดตั้งก็สามารถดำเนินการได้ภายใน 5 เดือน รวมทั้งการขอใบอนุญาตเป็นสายการบิน ก็สามารถดำเนินการใน5-6เดือน ภายใต้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ทางกระทรวงคมนาคมพร้อมให้การสนับสนุน กระทรวงการคลัง และ การบินไทยที่จะแก้ไขปัญหาการบินไทยหากแผนฟื้นฟูที่จัดทำขึ้นดังกล่าวมีความสมบูรณ์ แต่หากกระทรวงคมนาคมพิจารณาแผนแล้วเห็นว่าไม่เรียบร้อย ในเรื่องนี้ก็ต้องมาหารือร่วมกันว่า ไม่เรียบร้อยเรื่องไหน ด้านไหนบ้าง เพราะการบินไทยเคยเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมมาก่อนซึ่งตนในฐานะ รมว.คมนาคม ก็อยากให้มีการแก้ไขสำเร็จเพราะการบินไทยคือ สายการบินของคนไทย ส่วนแนวทางที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้มีการจัดตั้งสายการบินแห่งชาติขึ้นมาใหม่นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทาง ซึ่งในที่ประชุมก็มีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับคมนาคม











©2018 CK News. All rights reserved.