วันที่ 16 มี.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนกลุ่มเป้าหมาย ของ กสศ. ในปีการศึกษา 2/2563 เพิ่มขึ้นกว่า 18% จากปีการศึกษา 1/2563 ซึ่งในปีการศึกษา 2/2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เข้ามา จำนวน 195,558 คน โดยยอดรวมตั้งแต่เริ่มเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาค เมื่อปีการศึกษา 2/2561 ครบ 3 ปีการศึกษา กสศ.ให้การช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษแล้ว 1,173,752 คน
จากข้อมูลล่าสุดพบว่า รายได้เฉลี่ยครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีอัตราลดลง 5% โดยในภาคการศึกษา 2/2563 อยู่ที่ 1,021 บาท/เดือน หรือประมาณ 34 บาท/วัน ลดลงจากภาคการศึกษา 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ 1,077 บาท/เดือน โดยแหล่งที่มาของรายได้ยังมาจากเงินเดือนและค่าจ้าง สวัสดิการจากรัฐ/เอกชน และการเกษตร ขณะที่สมาชิกครัวเรือนอายุ 15-65 ปี ว่างงานที่ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษาอยู่ที่ 31.8% และเป็นผู้ปกครองที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 32%
จากการทำงานร่วมกับคุณครูทั่วประเทศกว่า 4 แสนคน ในสถานศึกษา 3 สังกัดคือ สพฐ. อปท. และตชด. เพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลเด็กนักเรียนเป็นรายบุคคล ทำให้ กสศ. มีข้อมูลเชิงลึกของครัวเรือนที่ยากจน 15% ล่างสุดของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้กับหน่วยงานรัฐ ทั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินมาตรการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนการนำข้อมูลไปให้หน่วยงานต้นสังกัดที่ดูแลนักเรียน ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. อปท. และ ตชด. ใช้ในการพิจารณาจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวมากกว่า 1.7 ล้านคน
ด้วยข้อมูลเชิงลึกรายภาคเรียนการศึกษาที่กสศ.จัดเก็บทำให้สามารถจับชีพจรวัดความเหลื่อมล้ำรายพื้นที่ พร้อมทั้งมีข้อมูลเชิงลึกถึงระดับตำบลหมู่บ้านที่หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาฟื้นฟูประเทศหลังผลกระทบโควิด-19 ตลอดจนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศในเชิงโครงสร้าง ด้วยการรู้ถึงรายละเอียดกลุ่มเป้าหมายที่ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การช่วยเหลือที่ไม่ใช่แค่ตัวเด็กนักเรียน แต่เริ่มนำร่องให้การช่วยเหลือถึงครอบครัวผู้ปกครอง เพื่อขจัดความยากจนข้ามชั่วคนซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของกสศ. เนื่องจาก กสศ.มีงบประมาณจำกัด แต่เรามีข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ซึ่งหน่วยงานต่างๆ จะได้มีโอกาสใช้ข้อมูลเพื่อลดผลกระทบต่างๆได้
น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์โควิดดิสรัปชัน (COVID Disruption) ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง โดยผลกระทบของเด็กนอกจากเรื่องการเรียนแล้วยังกระทบเรื่องสภาพจิตใจ ไม่มีค่าใช้จ่ายไปเรียน ไม่มีหน้ากากอนามัย โรงเรียนอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ผลกระทบฝั่งของผู้ปกครอง จากการสำรวจพบว่า 60% ของผู้ปกครองมีรายได้ลดลง รวมทั้งมีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องดูแลมากขึ้น และจำนวนมากต้องออกจากงาน
นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มผู้ปกครองที่สามารถปรับตัวได้ยังมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ได้ต้องกลับภูมิลำเนา ที่ผ่านมากสศ.ได้เข้าไปช่วยเหลือภายใต้โครงการ “ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน” ส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการ เกิดการรวมกลุ่ม ทำให้เขามีรายได้ที่สูงขึ้น โดยไม่ใช่ตั้งต้นจากหลักสูตร แต่เริ่มจากให้กลับไปสำรวจ ในหมู่บ้านว่ามีฐานทรัพยากรอะไร มีศักยภาพอะไร และค่อยพัฒนาส่งเสริมในสิ่งเหล่านั้นโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
©2018 CK News. All rights reserved.