วันที่ 17 ก.พ. 64 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว และคำนึงถึงความสมดุลทั้งสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ สถาบันโลวี ประเทศออสเตรเลียจัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกที่สามารถควบคุมโรคโควิด 19 ได้ดีจากทั้งหมด 98 ประเทศ โดยมีอัตราการติดเชื้อ 340 คนต่อประชากรล้านคน ถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่น 20-30 เท่า เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ รวมทั้งมีการคิดค้นนวัตกรรมช่วยควบคุมโรคที่พึ่งพาตนเองได้ เช่น การผลิตชุด PPE หน้ากากอนามัย น้ำยาตรวจหาเชื้อรถเก็บตรวจอย่างและตรวจหาเชื้อชีวนิรภัย และมีแอปพลิเคชันติดตามตัว เป็นต้น มีการขยายศักยภาพห้องปฏิบัติการกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามอย่างเพียงพอ มีระบบควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ระบบการดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ยาฟลาวิพิราเวียร์ในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำเพียงร้อยละ 0.1 ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 2.2
นอกจากนี้ มีการเพิ่มจำนวนทีมสอบสวนเฝ้าระวังควบคุมโรคจาก 1,000 ทีม เป็น 3,000 ทีม ทำให้รับมือการระบาดได้รวดเร็ว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ได้เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยโรคโควิด 19 กลุ่มผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ กลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ กว่า 1 ล้านคน และเฝ้าระวังในกลุ่มอื่น เช่น ผู้ต้องขัง แรงงานต่างด้าว ทั้งการค้นหาเชิงรุกและมาตรการ Bubble and Sealed ในจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้จำกัดวงการแพร่ระบาดและเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังมีระบบสุขภาพปฐมภูมิ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้มแข็ง คอยดูแลป้องกัน รวมถึงประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรค ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจากวันละ 800 ราย โดยในวันนี้พบผู้ติดเชื้อ 72 ราย ใน 16 จังหวัด จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกันมากกว่า 7 วันมี 46 จังหวัด จำนวนผู้ติดเชื้อรวม 14,038 ราย แสดงถึงประเทศไทยมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการควบคุมโรคโควิด-19
สำหรับมาตรการป้องกันการติดเชื้อจากต่างประเทศ มีการเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ทั้งทางอากาศ ทางบกและทางน้ำ จำนวน 7 ล้านคน โดยจัดสถานที่กักกันผู้เดินทางจากต่างประเทศด้วยระบบที่มีมาตรฐานทุกประเภท 200,000 กว่าคน ไม่พบการแพร่เชื้อไปในชุมชน ป้องกันไม่ให้เชื้อกลายพันธุ์เข้าประเทศ รวมทั้งปรับวิธีกักกันผู้เดินทาง เช่น การอนุญาตนักธุรกิจเข้ามาระยะสั้น การแข่งขันกีฬา เป็นต้น เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินต่อได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคโควิด 19 ในกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆ และติดตามผู้สัมผัสทั้งกลุ่มเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำได้อย่างรวดเร็ว เช่น สนามมวยลุมพินี สถานบันเทิงทองหล่อ โรงแรม 1G1 ประเทศเพื่อนบ้าน การลักลอบเล่นการพนัน สนามชนไก่ และตลาดกลางกุ้ง เป็นต้น ทำให้ทราบปัจจัยการระบาด สถานที่เสี่ยง นำไปสู่มาตรการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความแออัดและรวมคนเป็นจำนวนมาก สามารถควบคุมโรคได้ภายใน 1 เดือนตามหลักทางวิชาการ
©2018 CK News. All rights reserved.