นายกฯ สั่งคุมสินค้าช่วงตรุษจีน กันการฉวยโอกาสขึ้นราคา


8 ก.พ. 2564, 08:56

นายกฯ สั่งคุมสินค้าช่วงตรุษจีน กันการฉวยโอกาสขึ้นราคา




เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2564 ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ก.พ.นี้โดยประชาชนนิยมออกไปเลือกซื้อวัตถุดิบเพื่อประกอบพิธีในการไหว้บรรพบุรุษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้ดูแลควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ตรวจตราป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเอาเปรียบประชาชน พร้อมกำชับให้ร้านค้า ต้องปิดป้ายแสดงราคาอย่างชัดเจน เพื่อง่ายในการตรวจสอบราคาและความสะดวกของประชาชน นอกจากนี้ การไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า ยังมีโทษตามกฎหมายด้วย



น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ คาดการณ์ว่า ประชาชน จะเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นนายกรัฐมนตรี จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม โดยตรวจสอบทั้งราคาและการโฆษณาเกินจริง ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงป้องกันมิจฉาชีพโฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวงประชาชน จึงให้ประชาชน ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนเลือกซื้อสินค้า หากพบพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) 1166

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ตรุษจีน วันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ โดย พล.อ.ประยุทธ์เชิญชวนประชาชนจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยสามารถซื้อสินค้าและบริการผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน กระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน เว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำบทวิเคราะห์การจับจ่ายช่วงตรุษจีนปี 2564โดยคาดว่าเม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 11,700 ล้านบาท หดตัวถึงร้อยละ 10.4 (กรอบประมาณการหดตัวร้อยละ 8-12) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนักหากเทียบกับตรุษจีนปีนี้


โดยเม็ดเงินดังกล่าวแบ่งเป็นการใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ 5,600 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 5.1) การใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ/กินข้าวนอกบ้าน 2,900 ล้านบาท(หดตัวร้อยละ 20.8) และการแจกเงินแต๊ะเอีย 3,200 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 8.1) อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด รวมถึงมาตรการในการควบคุมของภาครัฐอีกครั้ง ซึ่งหากพื้นที่กรุงเทพฯ กลับมามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนภายหลังจากการผ่อนปรนมาตรการฯ ก็อาจจะทำให้การใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ หดตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด


คำที่เกี่ยวข้อง : #นายกรัฐมนตรี   #ตรุษจีน  









©2018 CK News. All rights reserved.