วันที่ 14 ม.ค. 64 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับ Mr. Hyun-Jong JOO ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1/2564 ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านการขนส่งทางถนน ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆ โดยฝ่ายไทยมีประเด็นหารือ 5 ข้อดังนี้
1.การแก้ไขปัญหาจราจรบนถนนวงแหวนรัชดาภิเษก (พระราม9 – อโศก – พระราม 4) ช่วงถนนอโศก ซึ่งมีสภาพติดขัดเป็นคอขวด
2. การจัดทำช่องทางเดินรถสำหรับรถโดยสารประจําทาง (Bus Way) บริเวณเกาะกลางถนนพระราม 4 เพื่อส่งเสริมการใช้รถโดยสารสาธารณะมากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อลดปริมาณการจราจรบนท้องถนน
3. การก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินลอดแม่น้ำเจ้าพระยา สาทร – บางนา เพื่อแก้ปัญหาจราจร
4. การนำเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AIหรือปัญญาประดิษฐ์ ) มาช่วยบริหารจัดการแก้ไขปัญหาจราจร เช่น ปริมาณการจราจร ความหนาแน่น และแถวคอย เป็นต้น
5. การแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในกรุงเทพฯ
นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ส่วนฝ่ายเกาหลีมีประเด็นหารือ 3 ข้อ ดังนี้
1. การนำร่องการปรับปรุงการบริหารจัดการการจราจร บริเวณ ถนนอโศก และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
2. การก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินลอดแม่น้ำเจ้าพระยา สาทร – บางนาเพื่อแก้ปัญหาจราจร
3. ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Electronic Road Pricing : ERP) เพื่อบริหารจัดการปริมาณจราจรที่เข้าสู่กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะทำงานฯครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ ระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งเป็นการกระชับความร่วมมือและสานต่อความสัมพันธ์อันดีในด้านโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมขนส่งระหว่างหน่วยงานของทั้งสองฝ่าย โดยกำหนดการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพฤษภาคม
นายชยธรรม์ กล่าวต่อด้วยว่า ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม ได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านการขนส่งทางถนนกับนางคิม ฮยอน-มี รมว.ที่ดินโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 63 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดขอบเขตและหลักการสำคัญของความร่วมมือในด้านการขนส่งทางถนน ตลอดจนการพัฒนาแผนงานและโครงการด้านการขนส่งทางถนนที่ฝ่ายไทยและฝ่ายเกาหลีมีความสนใจร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับขอบเขตความร่วมมือครอบคลุมโครงการต่าง ๆ ได้แก่
1. การแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ
2. ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ
3. โครงการทางด่วนใต้ดิน
4. โครงการพัฒนาจุดพักรถ (Rest Area)
5. ระบบขนส่งอัจฉริยะสำหรับการขนส่งทางถนน
6. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)
7. การพิจารณาขอบเขตความร่วมมืออื่นๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภายใต้โครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม และการส่งเสริมการร่วมลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งทั้งสองประเทศจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาระบบการขนส่งทางถนนของประเทศไทย
©2018 CK News. All rights reserved.