เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเพียงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ จะประชุมผ่านระบบวิดีโอมาจากกระทรวง
ก่อนการประชุม ครม. ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์เดินจากตึกไทยคู่ฟ้ามายังตึกบัญชาการ 1 ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุที่ประชุม ศบค. มีมติล็อกดาวน์ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จ.สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โดยงดการเดินทางเข้าออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต นายกฯ กล่าวด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า "ไปอ่านเอาให้เข้าใจ ว่าอะไรคือล็อกดาวน์ ไม่ล็อกดาวน์"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เราคาดการณ์ว่าความรุนแรงน่าจะน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ปรากฎว่าปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเกิดปัญหาทั่วโลกต้องรีบแก้ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ได้ประชุมรายละเอียดที่ศบค.ไปแล้ว ทั้งนี้ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยคนไทยเต็มที่
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า จะเข้มข้นมาตรการใน 5 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งไม่ถึงกับเข้มข้น 100 % จึงไม่เหมือนกับการล็อกดาวน์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รายละเอียดจะมีการแถลงภาพหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เนื่องจากต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และในที่ประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวส์ โดยนายกรัฐมนตรีใช้คำว่าระยะที่ 1 คือขณะนี้ ซึ่งการแพร่ระบาด ยังช้าอยู่ ควบคุมได้อยู่ก็จะใช้มาตรการเดิม
"แต่หากไปถึงจุดหนึ่งที่จะกลายเป็นระยะที่ 2 อาจต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้น โดยไม่ได้ยึดกรอบเวลาแต่ยึดที่สถานการณ์ หากพื้นที่สีแดงพื้นมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และพื้นที่สีส้ม สีเหลืองเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีแดงมากขึ้น การแพร่ระบาดของเชื้อทวีความรุนแรงก็ต้องประเมินสถานการณ์ และมีโอกาสเพิ่มมาตรการเข้มข้นมากกว่าระยะที่ 1"นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ขอใช้คำสั้นๆ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้มาตรการระยะที่ 1 ซึ่งมีความหนักเบา แต่ละพื้นที่สลับกันไป เมื่อครั้งโควิด-19 ระบาดใน 1 ปีที่ผ่านมา อำนาจจะเข้ามาอยู่ที่ ศบค. ตาม พรก.ฉุกเฉิน แต่ครั้งนี้เราคืนอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพียงแต่มีข้อความให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมั่นใจว่าจะไม่ถูกฟ้อง และได้รับการคุ้มครอง โดยใช้ พรก.ฉุกเฉินไปคุ้มครองให้ออกคำสั่ง แต่ไม่ได้สั่งตาม พรก.ฉุกเฉิน
"ปัญหาที่ตามมาคือความลักลั่นในแต่ละพื้นที่ โดยในระยะที่ 1 ให้เป็นเช่นนี้ไปก่อน ปัญหานี้ในที่ประชุม ศบค. ก็มีการพูดถึงคงต้องปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไประยะหนึ่งแล้วค่อยปรับเข้าไปสู่มาตรฐานเดียวกันในระยะที่ 2 เป็นการเรียกอำนาจกลับคืนมาเป็นของนายกฯ ตาม พรก.ฉุกเฉิน"นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า มาตรการต่างๆ กระทบกับภาคเอกชนรัฐบาลมีเงินเพียงพอในการเยียวยาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงในส่วนนั้น
©2018 CK News. All rights reserved.