เช็กกลุ่มจังหวัด 4 โซนความเสี่ยง โยนผู้ว่าฯกำหนดพื้นที่เอง ยังขายเหล้า-จัดกิจกรรมได้


25 ธ.ค. 2563, 09:31

เช็กกลุ่มจังหวัด 4 โซนความเสี่ยง โยนผู้ว่าฯกำหนดพื้นที่เอง ยังขายเหล้า-จัดกิจกรรมได้




สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ยังเป็นที่น่าวิตกเนื่องจากเชื้อได้แพร่กระจายไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศแล้วอย่างน้อย 32 จังหวัด  ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธานว่า ในวันนี้ที่ประชุมไม่ขอใช้คำว่าสี และไม่มีการพูดถึงการล็อกดาวน์ในประเทศ แต่พูดถึงการเตรียมพร้อม จึงมีการแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ 4 พื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เป็นผู้กำหนดพื้นที่ของตนว่าอยู่ในกลุ่มใด



นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า แต่ที่เน้นย้ำคือ ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ดังนี้ 1.พื้นที่มีการควบคุมสูงสุด พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 พื้นที่ย่อย เช่น จ.สมุทรสาคร มีมาตรการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด จะต้องใช้แอพพลิเคชั่นหมอชนะ และไทยชนะ พร้อมจะต้องกำหนดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบที่มีความจำเป็น สถานศึกษาสอนแบบออนไลน์ งดกิจกรรมที่รวมคนจำนวนมาก เน้นการทำงานที่บ้าน (Work from home) สถานประกอบการเปิดทำการได้เพื่อเศรษฐกิจ แต่ต้องป้องกันโรค ประมงดำเนินการได้ แต่ต้องตรวจหาเชื้อก่อนออกเรือ


2.พื้นที่ควบคุม อยู่ติดกับพื้นที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เช่น จังหวัดโดยรอบ จ.สมุทรสงคราม กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี จะต้องตรวจหาเชื้อ และใช้มาตรการเดียวกับพื้นที่มีการควบคุมสูง เลี่ยงการจัดกิจกรรม เฝ้าระวังการลักลอบจากพื้นที่อื่น

3.พื้นที่เฝ้าระวังสูง เป็นจังหวัดรอบนอก เช่น ผู้เข้าไปซื้อของในตลาดกลางกุ้ง ซึ่งจะมีมาตรการที่น้อยลงมาอีก โดยจะใช้มาตรการตรวจหาเชื้อเชิงรุก และ

4.พื้นที่เฝ้าระวัง ยังไม่พบติดเชื้อและไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะพบผู้ติดเชื้อ จะต้องมีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเช่นกัน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงการจัดกิจกรรมปีใหม่ว่า มีมาตรการที่ต่างกันใน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่มีการควบคุมสูงสุด งดการจัดกิจกรรมทุกอย่าง แต่จัดออนไลน์ได้ 2.พื้นที่ควบคุม งดจัดกิจกรรมในที่สาธารณะ ให้จัดกิจกรรมเฉพาะผู้มีความคุ้นเคยกัน โดยลดขนาดของงาน 3.พื้นที่เฝ้าระวังสูง จัดกิจกรรมได้ แต่ต้องลดขนาดและความหนาแน่นของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไม่ให้เกิดความคับคั่ง เช่น ปีใหม่ วันเด็ก เป็นต้น แต่ต้องดูสถานการณ์ในเวลานั้นๆ และ 4.พื้นที่เฝ้าระวัง ให้ทำลักษณะเดียวกันกับพื้นที่เฝ้าระวังสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศบค.จัดแบ่งพื้นที่ควบคุมเฝ้าระวังโรคโควิด-19 เป็น 4 พื้นที่ พบว่า 1.พื้นที่มีการควบคุมสูงสุด มี 1 จังหวัด คือ สมุทรสาคร 2.พื้นที่ควบคุม 4 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร 3.พื้นที่เฝ้าระวังสูง 25 จังหวัด คือ สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นนทบุรี ปทุมธานี อุตรดิตถ์ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต กำแพงเพชร นครราชสีมา ปราจีนบุรี กระบี่ ขอนแก่น ชัยนาท อุดรธานี พิจิตร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชัยภูมิ นครสวรรค์ อ่างทอง และ 4.พื้นที่เฝ้าระวัง คือจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า การจัดงานกิจกรรมรื่นเริงปีใหม่ เคาต์ดาวน์ และงานวันเด็ก ก็ขอให้พิจารณาตามรายละเอียดของแต่ละโซนพื้นที่ เช่น ในพื้นที่สีแดงก็ขอให้งดโดยเด็ดขาด ส่วนพื้นที่อื่นๆ บางพื้นที่ยังสามารถจัดกิจกรรม แต่ต้องควบคุมจำนวนคนและเข้มมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงส่วนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังสามารถจำหน่ายได้ปกติ ผับ บาร์ สถานบันเทิง ยังเปิดบริการได้
วันเดียวกันเวลา 12.30 น. ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร กว่า 100 คน มารวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเพื่อคัดค้านการทำพื้นที่ให้เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยมีทั้งนั่ง และยืนขวางรถของทหาร ที่จะเข้าไปปรับพื้นที่ ไม่ให้เข้าไปภายในรั้วของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร โดยมีนายอาวุธ วิเชียรฉาย ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร เป็นตัวแทนเข้าพบปะพูดคุยกับประชาชนที่มาร่วมกันคัดค้าน

ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า พวกตนจะไม่ยอมให้มีการทำโรงพยาบาลสนามในพื้นที่นี้อย่างเด็ดขาด เพราะว่าชุมชนที่อยู่โดยรอบมีประชากรไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ไม่รวมแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งยังมีเด็กเล็กๆ มีสถานศึกษา มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยนี้เป็นเหมือนใจกลางของชุมชนโดยรอบ ดังนั้นจะเอาคนที่มีเชื้อ

โควิด-19 มาไว้ตรงกลางของชุมชนโดยรอบ จึงไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครรับประกันถึงความปลอดภัย
ขณะที่บริเวณสวนน้ำพันท้ายนรสิงห์ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเตรียมทำเป็นโรงพยาบาลสนามด้วยนั้น ปรากฏว่าชาวบ้านก็ไม่ยินยอมเช่นกัน ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงสวนน้ำพันท้ายนรสิงห์กล่าวว่า ตอนนี้ทั้งกุ้งและปูก็ขายไม่ได้ รังเกียจอาหารทะเลสมุทรสาครไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถ้ามาสร้างโรงพยาบาลสนามที่นี่ก็จะไปกันใหญ่ ยิ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบยาวแน่นอน เพราะกว่าผู้ป่วยจะหายก็กินเวลาอีกนาน


คำที่เกี่ยวข้อง : #โควิด-19  









©2018 CK News. All rights reserved.