"นกแอร์" ยื่นศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการ พักหนี้อัตโนมัติ 2.6 หมื่นล้านบาท


31 ก.ค. 2563, 08:51

"นกแอร์" ยื่นศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการ พักหนี้อัตโนมัติ 2.6 หมื่นล้านบาท




เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 63 บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) ได้แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 63 มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและให้เสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ (ผู้ทำแผนฯ) ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยบริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อศาลล้มละลายกลางในวันเดียวกันที่คณะกรรมการได้มีมติดังกล่าว และในวันที่ 30 ก.ค. 63 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 27 ต.ค.2563 การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. บริษัทในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพราะเห็นว่าการฟื้นฟูกิจการนั้นเป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวของบริษัท ภายใต้การกำกับดูแลของศาลฯ เพื่อให้กิจการของบริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ

2.การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ บริษัทไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการที่จะเลิกหรือชำระบัญชีบริษัท หรือไม่ได้มุ่งหมายให้บริษัทต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม บริษัทกลับมีความมุ่งมั่นและแน่วแน่เป็นอย่างยิ่งในการที่จะดำเนินกิจการต่อไปให้มีความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง เพราะปัญหาในปัจจุบันของบริษัทไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เกิดจากปัจจัยหลายประการรวมถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทาให้บริษัทเกิดข้อติดขัดและอุปสรรคในการดำเนินกิจการ หากมีการปรับโครงสร้างภายใต้กระบวนการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม บริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน



3. การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ทั้งบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ตามปกติในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการให้การบริการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ทางอากาศ

4. แนวทางเบื้องต้นของการฟื้นฟูกิจการบริษัท คือ

4.1 การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้สินที่มีอยู่ให้สร็จสิ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท

4.2 การบริหารจัดการกิจการของลูกหนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถชำระหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เช่น ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับฝูงบิน การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพในการทางานของพนักงาน ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคล

5. บริษัทได้เสนอให้ บริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ นายปริญญา ไววัฒนา นายไต้ ชอง อี นายเกษมสันต์ วีระกุล นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัท เป็นผู้ทำแผน


อย่างไรก็ตาม การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลงบริษัทไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้โดยสาร ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางการค้า ลูกหนี้ เจ้าหนี้ พนักงานบริษัท ผู้ลงทุน ประชาชนรวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยบริษัทได้เล็งเห็นแล้วว่าในขณะนี้ประชาชนและนักท่องเที่ยวยังมีการเดินทางกันไม่มากนักเพราะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถฟื้นฟูกิจการได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วมากกว่าในภาวะปกติ

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จก่อนการระบาดโควิด-19 จะยุติลง ซึ่งนั่นหมายถึงบริษัทจะมีความพร้อมอย่างเต็มที่และสามารถให้บริการอย่างดีเยี่ยมเพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี

 











©2018 CK News. All rights reserved.