สดร. เชิญชม ! “สุริยุปราคาบางส่วน” ในวันครีษมายัน 21 มิ.ย. นี้


20 มิ.ย. 2563, 09:04

สดร. เชิญชม ! “สุริยุปราคาบางส่วน” ในวันครีษมายัน 21 มิ.ย. นี้




วันที่ 21 มิถุนายน 2563 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่าน สาธารณรัฐอัฟริกากลาง คองโก เอธิโอเปีย ตอนใต้ของปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนประเทศไทย จะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์ เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาประมาณ 13:00 –16:10 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์ จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น. สังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาค จะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากน้อยแตกต่างกัน ดังนี้

สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลก จะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ สำหรับ สุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน ดวงจันทร์ จึงบดบังดวงอาทิตย์ เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์ ทอดผ่านพื้นผิวโลก ผู้สังเกตบนโลก ภายในบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน จะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์ บดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น

สำหรับผู้สนใจชมปรากฏการณ์ ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่า แว่นกันแดด ฟิล์มเอ็กซ์เรย์ หรือแผ่นซีดี เนื่องจากแสงอาทิตย์สามารถทำลายเซลส์ประสาทตาจนตาบอดได้ ควรสังเกตการณ์ผ่านอุปกรณ์เฉพาะ ที่มีคุณสมบัติกรองแสงได้อย่างปลอดภัย อาทิ แว่นตาดูดวงอาทิตย์ ทำจากแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำ แผ่นกรองแสงอะลูมิเนียมไมลาร์ กระจกแผ่นกรองแสง สำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า และ อุปกรณ์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ทางอ้อม เช่น การดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพ หรือ ใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ซึ่งเป็นวิธีที่มีความปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และยังสามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน



หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ต้องเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสงดวงอาทิตย์เท่านั้น เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์มีเลนส์รวมแสง ทำให้แสงอาทิตย์ทวีกำลังมากขึ้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งแก่ดวงตา

สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทยคือ สุริยุปราคาบางส่วน ในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 ซึ่งจะต้องรออีก 7 ปีต่อจากนี้เลยทีเดียว
 
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” แล้ว ยังเป็นวัน “ครีษมายัน” คือวันที่เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และ ตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด


สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าว ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. และ จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที ประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุด นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

ในระยะเวลา 1 ปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น – ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัต และ วันศารทวิษุวัต วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน











©2018 CK News. All rights reserved.