ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ส่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)) ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรเสนอ
ในการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวกรมสรรพากรได้นำผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ ที่มีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการต่างประเทศหรือดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษีของแต่ละประเทศ เพราะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและดำเนินการได้มากที่สุด ปัจจุบันมีกว่า 60 ประเทศที่นำแนวทางของ OECD มาแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการระหว่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้
สำหรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ กำหนดให้ผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เช่น การให้บริการดาวน์โหลดภาพยนตร์และสื่อบันเทิงต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้าในประเทศไทย มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร เพื่อให้เกิดความง่ายและอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีสำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ให้บริการจากต่างประเทศทำหน้าที่นำส่งภาษีแทน ผ่านระบบบริการจดทะเบียนและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างง่าย (Simplified VAT)
อธิบดีกรมสรรพากร เชื่อว่า การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศไทยกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเหมาะสม สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายภาษีไทยให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของนานาประเทศ และกรมสรรพากรคาดว่าการปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะช่วยทำให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท
©2018 CK News. All rights reserved.