พิษโควิดยังหนัก สภาพัฒน์ฯ เผยเสี่ยงตกงาน 8.4 ล้านคน เด็กจบใหม่เตะฝุ่นอื้อ! เทียบวิกฤตต้มยำกุ้ง


28 พ.ค. 2563, 13:54

พิษโควิดยังหนัก สภาพัฒน์ฯ เผยเสี่ยงตกงาน 8.4 ล้านคน เด็กจบใหม่เตะฝุ่นอื้อ! เทียบวิกฤตต้มยำกุ้ง




วันที่ 28 พ.ค. 63  นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไตรมาส 1/2563 พบการจ้างงาน 37.4 ล้านคน ลดลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน -0.7% โดยปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการจ้างงานในปี 2563 คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้บางกิจการต้องหยุดชั่วคราว โดยสศช.ประเมินว่าจะมีแรงงานที่มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างในปีนี้ประมาณ 8.4 ล้านคน รวมทั้งผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลให้การจ้างงานในภาคการเกษตรลดลงด้วย



คาดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง ต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 โดยคาดว่าทั้งปี อัตราว่างงานจะอยู่ในช่วง 3-4% เพิ่มขึ้น หรือประมาณ 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 1% หรือประมาณ 4 แสนคนต่อปี นับเป็นอัตราการว่างงาน สูงที่สุดเทียบเท่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แม้ว่า รัฐบาลจะมีการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยแบ่งไปใช้ในโครงการสำหรับการจ้างงาน 4 แสนล้านบาทแล้วก็ตาม ถ้าหากไม่มี พ.ร.ก. ตัวเลขว่างงานก็จะเพิ่มขึ้นอีก


นายทศพร กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานแล้ว 37 ล้านราย แต่ต้องช่วยให้ประชาชนเข้าถึงมาตรการ เพราะจากการสำรวจพบว่า มีลูกจ้างที่ไม่ได้รับช่วยเหลือ 88% และไม่รู้เกี่ยวกับมาตรการ 22% รวมทั้ง ต้องติดตามภาวะเลิกจ้างและการว่างงาน โดยเฉพาะในช่วงพ.ค.-ก.ค.2563 จะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดงานประมาณ 5.2 แสนคน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงาน และจ้างงานที่เพียงพอเพื่อรองรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะหางานไม่ได้


ในส่วนของหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวต่อเนื่อง โดยไตรมาส 4/2562 มีมูลค่า 13.47 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5% แต่ชะลอตัวลงจาก 5.5% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากสินเชื่อทุกประเภทประตัวลดลงโดยแนวโน้มสินเชื่อครัวเรือนไตรมาส 1/2563 คาดว่าจะชะลอตัวลง จากการหดตัวของเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 1.56 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% และคิดเป็น 3.23% ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.9 ในไตรมาสก่อน

นายทศพร กล่าวถึงสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ พบว่ามีปัญหาการเลิกเรียนกลางคันของเยาวชนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยความยากจนเป็นสาเหตุสำคัญในการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน จากข้อมูลพบว่าในปี 2562 มีเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส อยู่นอกการศึกษากว่า 6.7 แสนคน สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์จ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2562 อยู่ที่ 12.87% ของเยาวชนในช่วงอายุ 15-24 ปี หรือประมาณ 1.2 ล้านคน


คำที่เกี่ยวข้อง : #ตกงาน   #โควิด-19  









©2018 CK News. All rights reserved.