วันที่ 18 พ.ย. 62 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2562 ขยายตัว 2.4% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2/2562 ที่ขยายตัว 2.3% แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นแต่ก็ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.5% โดย สศช. ปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี 2562 ใหม่เหลือ 2.6% จากเดิม 2.8% ในช่วง 2.7%-3.2% ซึ่งหากต้องการให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้เป็นไปตามได้ตามเป้าหมาย ในไตรมาส 4/2562 จะต้องขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2.8%
ซึ่งเศรษฐกิจไทยปี 2562 ที่ขยายตัว 2.6% จะเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ที่ขยายตัว 1% โดยในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม เพื่อให้การขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งยังไม่สามารถไว้วางในในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันได้ จึงจำเป็นต้องใช้ทุกกลไกที่มีอยู่มาเกื้อกูลให้ผ่านจุดนี้ไปให้ได้ โดยมาตรการที่ออกมา หากเป็นการให้เงินอีกครั้งก็จะเป็นการกระตุ้นความต้องการ แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องกระตุ้นในด้านอื่นๆ ด้วย ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ ถือว่าได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะต้องประเมินอีกครั้ง
“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 แม้จะดีขึ้นแต่ก็ช้ากว่าที่คาดไว้พอสมควร มาจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก มาตรการกีดกันการค้า และปัจจัยชั่วคราว เช่น รถยนต์มีการปรับเปลี่ยนรุ่น โรงกลั่นน้ำมันบางแห่งปิดซ่อม มีการปรับมาตรฐานน้ำมันใหม่ จึงทำให้เศรษฐกิจชะลอกว่าที่คาด แต่ไตรมาส 4 ปัจจัยชั่วคราวเหล่านี้จะหมดไป ทำให้คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่านี้”
นายทศพร กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7-3.7% ดีขึ้นจากปี 2562 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการคาดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 3.4% รวมถึงผลจากการปรับตัวจากมาตรการกีดกันทางการค้า และแนวโน้มค่าเงินบาทที่ไม่แข็งค่าเท่าปี 2562 โดยคาดว่าการส่งออกในปี 2563 จะขยายตัวได้ 2.3% จากปี 2562 ที่ชะลอตัวเพิ่มขึ้นที่ -2% จากคาดการณ์เดิมที่ -1.2%
ทั้งนี้ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และ ปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ 1. การขับเคลื่อนการส่งออกไม่ให้ต่ำกว่า 3% 2. ขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวมได้ต่อเนื่อง 3. รักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาครัฐ ผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ให้ไม่ต่ำกว่า 92.3% งบประจำไม่ต่ำกว่า 98% งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 70% งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่า 73% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 80% 4.สร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวการลงทุนเอกชน และ 5. ดูแลเกษตรกร แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก
©2018 CK News. All rights reserved.