วันที่ 11 ต.ค.2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประเมินถึงภาพรวมธุรกิจสมุนไพร พบว่า ปัจจุบันธุรกิจสมุนไพรเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยของไทยในการเข้าทำธุรกิจ โดยสามารถเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ผู้เล่นในตลาดอุตสาหกรรม โดยหยิบยกมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 1.99 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าปี 2576 มูลค่าจะอยู่ที่ 4.17 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าตลาดเติบโตทุกปี และเป็นตลาดใหญ่ และมีการแข่งขันกันสูง
ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หรือ ดร.ต้อม เลขาธิการมูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งถือเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของการผลักดันสมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติ ระบุว่า อภัยภูเบศร ไม่เคยมองใครเป็นคู่แข่ง แต่อยากให้เมืองไทยมีผู้ประกอบการสมุนไพรมาก ๆ เพื่อตลาดสมุนไพรจะได้เติบโต เพราะเกษตรกรจะได้ประโยชน์จากการกิน ใช้ สมุนไพรของประชาชน ข้อดีของประเทศไทยคือ มีความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาสูงมาก หากเราสามารถทำสิ่งที่มีอยู่ในแผ่นดิน และสร้างประโยชน์ได้ เราก็ควรจะช่วยกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้สึกว่า เราจะต้องได้ส่วนแบ่งตลาดเท่าไร หรือใครจะมาเป็นคู่แข่ง สิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในความคิดของอภัยภูเบศรเลย
ดร.สุภาภรณ์ บอกว่า สิ่งที่อภัยภูเบศรมีและทำ คือประโยชน์ต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราไม่เคยสำรวจตลาดว่า ประชาชนต้องการอะไร แต่เราจะมองสังคมว่าขณะนี้ ปัญหาสุขภาพของคนในสังคมคืออะไร แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อให้สุขภาพของคนดีขึ้น บนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยอาศัยภูมิปัญญา ความเชี่ยวชาญ และหลักการที่เรามีเพราะฉะนั้นเป้าหมายของเราคือ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในแง่ของเศรษฐกิจ การที่มีมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็มีข้อดีคือเรามีวัตถุประสงค์ให้เกาะเดิน โดยไม่ได้พุ่งเป้าว่าเราจะต้องขายให้ได้ปีละกี่ล้าน แต่เราภูมิใจที่ได้ทำธุรกิจเพื่อสังคม ได้พัฒนาธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องการรายได้ เพราะหากเราไม่มีรายได้วัตถุประสงค์ของเราก็เดินไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น “สมดุล” ก็ต้องมี คือเราใช้กับวิสาหกิจชุมชน ที่มีแนวคิดเชิงสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องมีประสิทธิภาพด้วย การจัดการในเชิงธุรกิจอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน คือสิ่งที่เรายึดมั่นและทำมาโดยตลอด
“ด้วยความที่เราตระหนักถึงความร่ำรวยของแผ่นดิน ซึ่งก็คือภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพ เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือทรัพย์สินที่ต้องส่งต่อให้กับลูกหลาน คนรุ่นต่อไป ต้นไม้ 4-5 พันชนิดล้วนเป็นภูมิปัญญา ที่เราใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการเป็นยา เป็นอาหาร ยากำลัง อบ ประคบ นวด ฯลฯ แม้ในสังคมปัจจุบัน จะต้องมีงานวิจัยมากมายเพื่อความน่าเชื่อถือ ลองคิดดูว่า เราต้องใช้สัตว์ทดลองมากมายรวมทั้งคนอีกเท่าไหร่ กว่าจะวิจัยต้นไม้ 4-5 พันชนิดออกมาเป็นยาให้คนใช้ได้ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีร่องรอยของภูมิปัญญาที่กินใช้สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์”ดร.สุภาภรณ์ กล่าว
เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวถึงจุดเด่นของอภัยภูเบศร ว่า แทบไม่มีสมุนไพรอะไรที่ไม่เคยผ่านตา เพราะเรานั่งอ่านตำรา ทั้งรายงานรักษา ทั้งเอกสารที่มีการรวบรวมไว้ มาอย่างยาวนาน และความต้องการของเราคือเก็บต้นสมุนไพรตัวเป็น ๆ เพื่อเชื่อมโยงกับภูมิปัญญา แล้วรอวันที่จะคลี่ออกมาเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน จะทำให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน เวลาเกิดภัยพิบัติก็จะนำมาใช้ได้ ไปหยิบฉวยอะไรมาวิจัยก็สามารถทำได้ทันที ดังนั้นผลิตผลของอภัยภูเบศรจึงไม่ใช่ยอดเงิน แต่เป็นโมเดลที่เชื่อมโยงภูมิปัญญา กับการวิจัยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารับผิดชอบต่อผู้บริโภคและต่อสังคม สิ่งที่ดีใจที่สุดคือ เราเป็นผู้ถางทางให้กับสังคม ให้กับวงการสมุนไพร และเรายืนหยัดในสิ่งที่เราเป็น เรายึดมั่นในความจริง ที่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องผ่านการทดลองหนูกี่ตัว แมวกี่ตัว หรือ ลิง สุนัข คน เท่าไหร่ แต่เรามีภูมิปัญญาอีกชุดที่คนหลายเจนเนอเรชั่น เคยกินเคยใช้มา เราเริ่มทำมาตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว จากการรวบรวม คว้าเก็บทรัพย์สินที่ถูกความเจริญตะวันตกพัดพาได้บางส่วน ถึงแม้ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เราจะเก็บรักษา ส่งต่อ และนำมาใช้ประโยชน์ได้ในยามที่โลกต้องการ และสิ่งที่เรานำมา ไม่ใช่แค่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่สังคมปัจจุบันเชื่อมกันเท่านั้น เรายังมีแพทย์แผนไทย องค์ความรู้พื้นบ้าน ที่ไปเก็บรวบรวมมาหลายเจนเนอเรชั่นที่มาแบ๊คอัพว่า สิ่งเหล่านี้มันมีประโยชน์
ดร.สุภาภรณ์ ย้ำว่า ทางเดินของเราเป็นแบบนี้ และคิดว่าถ้าหากเป็นตัวของเราแล้วไปต่อไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีอภัยภูเบศร เพราะเราก็ยังเป็นเราคือ ทำแบบเกษตรอินทรีย์ ที่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด บางครั้งถ้ามีการปนเปื้อนโลหะหนักมาเกินมาตรฐาน แม้จะด้วยความไม่ตั้งใจของเกษตรกร เราก็ทิ้ง เสียหายเป็นล้านเราก็ผ่านมาแล้ว แต่เราจะไม่ยอมเสียความเป็นเรา ผงยาของเราเป็นธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ เราสามารถเอาผงขมิ้นไปชงน้ำดื่ม ไปใส่แกงได้ แคปซูลของเราไม่ใส่สารกันบูด เราทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าคือสิ่งที่ดีกับผู้บริโภค
“เราจ่ายค่ารับรองฟาร์มปีละเป็นล้าน ตรวจฟาร์มอย่างเข้มข้น ตรวจดิน ตรวจน้ำ เราซื้อผลผลิตของเกษตรกรอย่างเป็นธรรม เรามีภาคประชาชน ภาคสังคม ที่สนับสนุนอยู่ เราอาจจะไม่ได้โตมากมายแต่เราไม่ตายแน่นอน เพราะว่ายังมีคนดีเอ็นเอเดียวกันอยู่ในสังคม เราให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกร รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เห็นชัดเจนเลยว่า การจะทำให้พื้นดินไม่มีสารเคมี ไม่มียาฆ่าแมลง เป็นสิ่งที่ยากมาก แต่เราก็พยามเฝ้าระวังโดยต้องมีมาตรการควบคุม วันนี้สิ่งที่ภูมิใจคือ เรารักษาแผ่นดินที่สะอาดให้กับพระแม่ธรณี”
ดร.สุภาภรณ์ มองอีกว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งมากมายจากการต่อยอดสมุนไพร ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ไปเป็นเครื่องดื่ม เป็นอาหาร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีสมุนไพรเข้าไปสอดแทรกในทุกกิจกรรม ที่ชาติอื่นไม่มี เพราะมันเป็นการสืบทอดทางดีเอ็นเอมาหลายชั่วอายุคน เป็นการวิจัยที่ยาวนาน เหล่านี้คือซอฟท์พาวเวอร์ที่เป็นสมบัติของชาติ และมันคือความร่ำรวยของแผ่นดินที่เราควรนำเสนอต่อนานาชาติ
©2018 CK News. All rights reserved.