สืบนครบาล รวบ "หมู บางเขน" ลักลอบครอบครองอาวุธปืน-ปล่อยเงินกู้ ร้อยละ 10-15 ต่อเดือน


29 ส.ค. 2567, 14:19

สืบนครบาล รวบ "หมู บางเขน" ลักลอบครอบครองอาวุธปืน-ปล่อยเงินกู้ ร้อยละ 10-15 ต่อเดือน




วันที่ 29 ส.ค.2567 ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. , พล.ต.อ. ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้ปราบปรามกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดทุกรูปแบบซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมากนั้น

เมื่อวันที่  28 สิงหาคม 2567 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.  ,พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก สส.ฯ , พ.ต.อ.วิชิต  ถิรขจรวงศ์ ผกก.สส.1ฯ,พ.ต.ท.พีรบูรณ์ แก้วดู รอง ผกก.สส.1ฯ ,พ.ต.ท.เอกศิษฐ์ วรกิตติ์ฐากรณ์  รอง ผกก.สส.1ฯ ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.พัฒน์พงษ์ กื้อมะโน สว.กก.สส.1ฯ พร้อมชุดปฎิบัติการที่ 2 เจ้าหน้าที่ กก.สส.1 ได้ร่วมกันจับกุมตัว นายสุรสิทธิ์ คำชู อายุ 41 ปี ที่อยู่ 127/46 หมู่ 5 ตำบลนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
       
โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน
  “ มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, เป็นบุคคลให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน หรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 4 อนุมาตรา 1 ”

พร้อมด้วยของกลาง
1.เครื่องกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 เกจ จำนวน 3 นัด
2.เครื่องกระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 17 นัด
3.เครื่องกระสุนปืนขนาด .22 คาริบเบอร์ จำนวน 2 นัด
4.เครื่องกระสุนขนาด 380 จำนวน 2 นัด
5.เครื่องกระสุนขนาด .32 S&W จำนวน 2 นัด
6.เครื่องกระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 1 นัด
7.ซองกระสุนปืน (แม็กกาซีน) จำนวน 3 ซอง
8.เครื่องกระสุนปืนขนาด 11 มม. จำนวน 4 นัด
9.เครื่องกระสุนปืนขนาด .30 คาบิ้นท์ จำนวน 10 นัด
10.เครื่องกระสุนปืนแบบซ้อม ยี่ห้อ ไทยอาร์ม ขนาด .38 spl จำนวน 20 นัด
11.สิ่งคล้ายอาวุธปืนไม่ทราบขนาด จำนวน 1 กระบอก
12.โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ ออปโป้ รุ่น เอ78 สีดำ จำนวน 1 เครื่อง

สถานที่จับกุม บ้านพักภายในหมู่บ้าน ซอย 2 ถ.รามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ



พฤติการณ์ในคดี ก่อนจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบสวนและจับกุม กลุ่มเป้าหมายผู้ที่ทำการลักลอบปล่อยเงินกู้นอกระบบ และมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งสืบทราบว่า นายสุรสิทธิ์หรือหมู มีพฤติกรรมลักลอบปล่อยเงินกู้นอกระบบ และมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน ขออำนาจศาลอาญา ออกหมายค้นบ้านนายสุรสิทธิ์ ภายในซอย 2 ถ.รามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ โดยศาลอาญาได้อนุมัติหมายค้น ให้ทำการตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2567 เวลาประมาณ 09.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้เข้าตรวจค้นบ้านนายสุรสิทธิ์ พบนายสุรสิทธิ์ พักอาศัยอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าวจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้อ่านหมายค้นฯ และได้ให้นายสุรสิทธิ์ฯ อ่านด้วยตนเอง โดยนายสุรสิทธิ์ฯ รับทราบและเข้าใจดีแล้ว โดยก่อนทำการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้น ได้ทำการแสดงความบริสุทธิ์ใจให้นายสุรสิทธิ์ฯ ดูจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้ให้นายสุรสิทธิ์ฯ เป็นผู้นำการตรวจค้นในครั้งนี้ โดยผลการตรวจค้นพบ ของกลางดังกล่าวข้างต้น โดยจากการตรวจสอบโทรศัพท์ของนายสุรสิทธิ์ฯ ด้วยความยินยอมให้ตรวจค้น  ปรากฏข้อความซึ่งได้มีพฤติการณ์ในการพูดคุยกันเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ระหว่างนายสุรสิทธิ์ฯ กับผู้กู้ยืมเงิน โดยนายสุรสิทธิ์ฯ ได้แจ้งว่าได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อเดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า “มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต , เป็นบุคคลให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน ตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 4 อนุมาตรา 1” และได้แจ้งสิทธิให้นายสุรสิทธิ์ฯ ทราบจนเข้าใจแล้ว

โดยในชั้นจับกุมนายสุรสิทธิ์ฯ ได้ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยได้ให้การว่า ได้ปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มเพื่อนๆ จริง โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10-15 ต่อเดือน ซึ่งได้ให้การประกอบบันทึกจับกุมนี้ไว้อีกด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้นำผู้ต้องหาไปยังที่ทำการพนักงานสอบสวน สน.บางเขน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป



พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ฝากเตือนให้ข้อคิดว่า ผู้ให้บริการเงินกู้นอกระบบมักเป็นผู้ให้กู้ที่ไม่อยู่ในระบบสถาบันการเงิน ส่วนมากจะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าสถาบันการเงินกำหนด โดยจะบอกตัวเลขดอกเบี้ยหรือเงินคืนน้อย ๆ เพื่อดึงดูดผู้กู้ นอกจากนี้ผู้ให้กู้บางรายยังบังคับให้ลูกหนี้เซ็นสัญญาเงินกู้ที่ไม่ได้กรอกข้อความ หรือระบุจำนวนเงินกู้เกินจริง เช่น กู้ 10,000 บาท แต่ให้กรอกตัวเลขสูงถึง 30,000 บาท แต่ที่น่ากลัวคือ การทวงหนี้ด้วยวิธีที่โหดร้ายหรือผิดกฎหมาย เช่น ขู่กรรโชก ประจาน หรือทำร้ายร่างกาย วิธีป้องกันกลโกงการเงินนอกระบบ ควรศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือการทวงหนี้โหด เลือกกู้เงินในระบบ เพราะมีสัญญาการกู้เงินที่ชัดเจนและเป็นธรรมมากกว่า





คำที่เกี่ยวข้อง : #สืบนครบาล  









©2018 CK News. All rights reserved.