วันที่ 26 ส.ค. 2567 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ระหว่างวันที่ 16 - 25 ส.ค. 67 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ เพชรบูรณ์ อุดรธานี ระยอง ภูเก็ต ยะลา และนครศรีธรรมราช รวม 64 อำเภอ 260 ตำบล 1,459 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,807 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2567) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 6 จังหวัด รวม 37 อำเภอ 156 ตำบล 940 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,824 ครัวเรือน ดังนี้
1.เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.เวียงชัย อ.เชียงแสน อ.ป่าแดด อ.พญาเม็งราย อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เทิง อ.เชียงของ อ.ขุนตาล อ.เวียงแก่น และ อ.เวียงป่าเป้า รวม 33 ตำบล 231 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,381 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง
2.พะเยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ปง อ.เชียงม่วน อ.ดอกคำใต้ อ.ภูซาง อ.เมืองฯ และ อ.เชียงคำ รวม 40 ตำบล 313 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง
3.น่าน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เวียงสา อ.นาน้อย อ.เชียงกลาง อ.ทุ่งช้าง อ.บ้านหลวง อ.ท่าวังผา อ.ปัว อ.ภูเพียง อ.เมืองฯ และ อ.บ่อเกลือ รวม 56 ตำบล 283 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,517 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ระดับน้ำลดลง
4.แพร่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ร้องกวาง อ.สอง อ.เมืองฯ อ.สูงเม่น และ อ.หนองม่วงไข่ รวม 23 ตำบล 102 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 383 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง
5.เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.วังโป่ง อ.ชนแดน และ อ.เมืองฯ รวม 6 ตำบล 22 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,726 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
6.นครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.ฉวาง รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว
อธิบดีปภ. กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และรถผลิตน้ำดื่ม เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
นายไชยวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปภ.ยังได้รับแจ้งจากกรมชลประทาน ว่า ในช่วงวันที่ 24 - 30ส.ค.นี้ ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1 - 3 วันข้างหน้า พบว่าปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในวันที่ 26ส.ค.นี้ ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 700 - 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.40 - 0.80 เมตร ตั้งแต่วันที่ 26ส.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน
“กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้ประสาน 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม” อธิบดี ปภ. กล่าว
อธิบดี ปภ. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันยังได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
©2018 CK News. All rights reserved.