วันที่ 17 สิงหาคม 2567 นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผอ.สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ร่วมกับ นายอุดมชัย โลหณุต ผอ.ปปส.กทม. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ภพธร จิตต์มั่น รอง ผบก.น.5 นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผอ.ศป.ปส.เขตคลองเตย พ.ต.อ.ปณิธิ ชาอุ่น ผกก.สน.ท่าเรือ พ.ญ.อลิศรา ทัตตากร ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิถุนายน - 31 สิงหาคม 2567) หรือ “คลองเตย ปลอดภัยจากยาเสพติด" ณ ลานกีฬาชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร มีประชาชนในเขตชุมชนคลองเตยสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 200 คน
ทั้งนี้ นายอุดมชัย โลหณุต ผอ.ปปส.กทม. ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่คลองเตยว่า"ในอดีตผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาจากภูมิภาคอื่นที่เข้ามาทำงาน แต่ปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ถูกจับกุม พบว่ามีร้อยละ 48 มีทะเบียนบ้านในเขตคลองเตย จำหน่ายยาเสพติดให้กับลูกค้าที่มาจากเขตติดกันอย่างเขตวัฒนา คลองตัน ยานนาวา และสาทร แต่เป็นการซื้อขายยาเสพติดกันในปริมาณไม่มาก สำหรับแผนปฏิบัติการเร่งรัดฯ 3 เดือนที่จะสิ้นสุดในปลายเดือน ส.ค.นี้ ปฏิบัติการในพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดจำนวน 6 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 ชุมชนล็อค 4-5-6 ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชนวัดคลองเตยใน 2 ชุมชนพัฒนา 70 ไร่ และ ชุมชนริมคลองสามัคคี ซึ่ง ปปส.กทม.ร่วมกับ บก.น.5 และ สน.ท่าเรือ กดดันปราบปรามจนผู้ค้าและเด็กเดินยาหลายคนหลบหนีออกนอกพื้นที่ ส่วนชุมชนเฝ้าระวังทั่วไปอีก 20 ชุมชน ได้ประสานให้มีการป้องปรามผู้ถูกสั่งคุมประพฤติที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวให้กลับคืนชุมชนประมาณ 50 คน โดยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและอาชีพ เพื่อไม่ให้กลับไปเกี่ยวข้องยาเสพติดอีก"
พ.ต.อ.ปณิธิ ชาอุ่น ผกก.สน.ท่าเรือ กล่าวเสริมว่า การจับกุมในช่วงแผนเร่งรัดฯ ช่วง 2 เดือนกว่านี้ จับกุมได้ 113 ราย และแม้ปัญหายาเสพติดลดลงแต่ยังพบการลักลอบนัดหมายส่งยาเสพติดตามแนวถนนดำรงลัทธพิพัฒน์ ถนนอาจณรงค์ และ ชุมชนคลองเตยแฟลต 1-10 การท่าเรือ และซอยชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ 2(ซอยดวงประทีป) รวมทั้งการหลบไปซื้อขายกันตามแฟลตหรือเคหะชุมชน ซึ่งมีการจำหน่ายยาเสพติดกลุ่ม Club Drug เช่น ยาเค ยาอี และไฟว์ไฟว์
ด้าน นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผอ.ศป.ปส.เขตคลองเตย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประเมินของ ปปส.กทม. ร่วมกับตำรวจ สาธารณสุข และภาคประชาชน พบว่า สถานการณ์ยาเสพติดในเขตคลองเตยดีขึ้นมาก เนื่องจากแหล่งจำหน่ายแหล่งมั่วสุมหลายแห่งได้รับการตรวจสอบแก้ไขด้วยการปรับภูมิทัศน์และพัฒนาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะลานกีฬาอเนกประสงค์หลายแห่งถูกปรับปรุงเพื่อให้เด็กเยาวชนสามารถเล่นกีฬาและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ศป.ปส.เขตคลองเตย ร่วมกับ สน.ท่าเรือ และศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ได้จัดทำโครงการชุมชนยั่งยืนและชุมชนล้อมรักษ์เพื่อบำบัดยาเสพติดในชุมชนจำนวน 20 ชุมชน รวมทั้ง ส่งอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยยาเสพติดเข้าร่วมทำงานกับทีมพิทักษ์จิตเวช สำนักอนามัย เดินเวรยามเฝ้าระวังผู้ป่วยจิตเวชทั้งในและนอกชุมชน ก่อนที่คนเหล่านี้จะก่อเหตุรุนแรง และยังได้เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ภายใต้แนวคิดสร้างคลองเตย ปลอดภัยจากยาเสพติด โดยสร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเปราะบางและผู้เสพ ซึ่งเน้นให้บริการตรวจสุขภาพ และบำบัดรักษายาเสพติด กลุ่มที่สองเป็นแรงงานผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ให้เข้าร่วมกิจกรรมวินสีขาวปลอดยาเสพติด กลุ่มที่สามเป็นเด็กและเยาวชน จะมีพิธีเปิดบ้านหนังสือกองทุนแม่ของแผ่นดินและจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ซึ่ง ปปส.กทม.สนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้เด็กและเยาวชนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และทำกิจกรรมสร้างสรรค์
นอกจากนี้ พ.ญ.อลิศรา ทัตตากร ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ได้กล่าวถึงยาเสพติดที่แพร่ระบาดในพื้นที่ว่าส่วนใหญ่เป็นไอซ์ ยาบ้า และคีตามีน ใช้กันในกลุ่มแรงงานรับจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 30-34 ปี ตลอดปีงบประมาณ 2567 มีผู้เข้าบำบัดแล้วจำนวน 127 คน และสำหรับช่วงแผนปฏิบัติการเร่งรัด 3 เดือนฯ มีผู้เข้าบำบัด 61 คน ส่วนผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด ซึ่งศูนย์ฯร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เอ็กซเรย์ค้นหามาตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน พบจำนวน 14 คน ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังอาการ (สีเหลือง) ในเบื้องต้นได้ส่งรักษาแล้วที่คลินิกสุขภาพจิต ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย ซึ่งคลินิกสุขภาพจิตได้ตรวจสอบสิทธิการรักษา และส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาตามสิทธิ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการจิตเวชรุนแรงมาก (สีแดง) ส่งรักษาที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา 1 คน และ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี 3 คน
ในส่วนของกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนเพื่อสร้าง “คลองเตย ปลอดภัยจากยาเสพติด” ในครั้งนี้ ก็มีไฮไลต์กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การแสดง TO BE NUMBER ONE จำนวน 2 ชุด จากเยาวชนในเขตคลองเตย การสาธิตวิธีการใช้ไม้ง่ามในการระงับเหตุบุคคลวิกลจริต/คลุ้มคลั่ง และปิดท้ายด้วยบูทหน่วยบริการประชาชน อาทิ หน่วยให้บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยของยาเสพติด หน่วยให้บริการตัดผมฟรี เป็นต้น ทั้งนี้ มีประชาชนเข้ามารับบริการและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง
นายอุดมชัย โลหณุต ผอ.ปปส.กทม. กล่าวในตอนท้ายว่า “ยาเสพติดในคลองเตยเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคีพยายามควบคุม ไม่ให้สร้างผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชน ผู้ค้าต้องไม่มีที่ยืน ผู้เสพที่สมัครใจ ต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม และยังคงทำงานได้ตามปกติ มีพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น สำหรับเด็กเยาวชน และคนภายนอกที่เมื่อเดินเข้ามาแล้ว เกิดความรู้สึกปลอดภัยและเปลี่ยนมุมมองทัศนคติต่อชุมชนคลองเตย กันใหม่ และแม้ว่าแผนปฏิบัติการเร่งรัด 3 เดือนฯ จะเสร็จสิ้น แต่ทุกหน่วยงานยังคงร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายสร้างคลองเตยให้ปลอดภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน”
©2018 CK News. All rights reserved.