เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 67 ) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์ ลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านอำปึล ม.15 ต.สะกาด อ.สังขะ จ.สุรินทร์ พร้อมนายสุภณัฐ ศิริทอง ผอ.กลุ่มงานกฎหมายระเบียบและเรื่องร้องทุกข์ สนง.ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สุรินทร์ นายวินัย ดาสั่ว ,นายก อบต.สะกาด ,ตัวแทนนายอำเภอสังขะ พร้อมด้วยส่วนงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชนในพื้นที่ ม.6 ,ม.15 หลังกรณีเพจปฏิบัติการณ์หมาเฝ้าบ้าน ได้โพสต์ภาพระบุข้อความ ว่า “ศูนย์เด็กเล็กบ้านอำปิล” ปี 61 อบต.สะกาด จ.สุรินทร์ ใช้เงิน 1,798,000 บาทสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขนาดไม่เกิน 50 คน สร้างเสร็จยังไม่เปิดใช้ ผ่านมาสองปีทำรั้วเพิ่มอีกสามแสนสอง อาคารมีแล้ว รั้วก็มีแล้ว แต่ไม่เคยเปิดใช้งานเลย สักครั้ง เหตุเพราะใกล้แหล่งน้ำผู้ปกครองเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ปล่อยทิ้งเกือบหกปี ฝ้าหลุดร่วงกลายเป็นที่อยู่อาศัยของนก โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณโดยรอบตัวอาคารต้นไม้ใบหญ้าได้ขึ้นมาปกคลุมแทบจะเป็นป่า ฝ้าเพดานด้านนอกและในตัวอาคารหลุดล่วงลงมากองกับพื้นบางส่วนก็ห้อยโตงเตงอยู่ นกที่อาศัยอยู่ขับถ่ายมูลลงมาทับถมกองเต็มและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณอาคาร เนื่องจากขาดการดูแลรักษาและถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่า ถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน ตั้งแต่ก่อสร้างมาตั้งแต่ 61 ยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอน เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองส่งบุตรหลานมาเรียน เพราะกลัวไม่ปลอดภัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งสถานที่ก่อสร้างจริงๆตามที่มีมิติในที่ประชุมตกลงกันคือ จะต้องก่อสร้างที่บ้านอำปึล ม.6 ที่เป็นแห่งชุมชน ไม่ใช่บ้านอำปึล ม.15 ที่อยู่ห่างชุมชนและเป็นหมู่บ้านท้ายสุดติดกับตำบลอื่น และยังข้องใจว่าทำไมถึงได้มีการโยกเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างและไม่มีใครทราบอีกด้วย
นายวินัย ดาสั่ว ,นายก อบต.สะกาด กล่าวว่า ตนเพิ่งมารับตำแหน่งหลังจากโครงนี้ ตามที่ได้ทราบจากข้อมูลเดิมวัตถุประสงค์ของทางหมู่บ้านคือต้องการให้สร้างที่บ้านอำปึล หมู่ที่ 6 ได้มีการประชุมกันทาง ส.อบต. ผู้และใหญ่บ้านในสมัยนั้น ก็ได้มีการประชุมร่วมกันกับชาวบ้าน ทีนี้ภายหลังอาจจะเกิดปัญหาว่า ถ้าสร้างตรงนั้นอาจจะไม่เหมาะสมเพราะเป็นที่วัด ก็เลยมีการขยับขยายมาอยู่จุดตรงนี้ จากนั้นพอสร้างเสร็จก็เกิดกรณีว่าผู้ปกครองเกิดความไม่มั่นใจ เพราะว่าสถานที่แห่งนี้ใกล้แหล่งน้ำ ก็เลยไม่มีใครส่งลูกหลานเข้ามาเรียน ทางอบต.สะกาด ในสมัยนั้นก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยการสร้างรั้วขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยและให้ผู้ปกครองเด็กเชื่อมั่น แต่ปรากฏว่าก็ยังเหมือนเดิม ก็เลยไม่มีเด็กมาเรียนตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นมา ตอนนี้ ทาง กศน. ไม่รู้ว่าเขาจะเข้ามาใช้สถานที่นี่หรือเปล่า เพราะว่าเขาก็อ้างว่ามันไม่เป็นจุดศูนย์กลาง ตอนนี้ก็ต้องดำเนินการแก้ไขต่อไป ซึ่งตนก็จะมีการประชุมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ปกครองนำเด็กเข้ามาเรียนหากปรับปรุงแล้ว ยังไม่มีผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน ก็ต้องนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เพื่อให้คุ้มกับงบประมาณที่สร้างไป ตอนนี้ก็ต้องไปดูในเรื่องระเบียบกฎหมายด้วยว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หากไม่มีเด็กมาเรียนจริงๆ และคงจะปล่อยให้รกร้างโดยเปล่าประโยชน์แบบนี้ไม่ได้
ด้านนายสุภณัฐ ศิริทอง ผอ.กลุ่มงานกฎหมายระเบียบและเรื่องร้องทุกข์ สนง.ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สุรินทร์ กล่าวว่า จากที่ได้เห็นสภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ก่อสร้างมา ก็รู้สึกเสียดายงบประมาณที่ก่อสร้าง ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า งบฯในการก่อสร้างอาคาร จำนวน 1,798,000 บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นแปดพันบาท)ในปี 2561 ต่อมาในปี 2563 มีการสร้างรั้วเพิ่มเติมอีก 320,000 บาท(สามแสนสองหมื่นบาท)และใน 2564 ก็มีการสร้างถนนคอนกรีตเข้ามายังศูนย์แห่งนี้อีก จำนวน 290,000 บาท (สองแสนเก้าหมื่นบาท) ซึ่งรวมงบฯทั้งสิ้นในการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ รวม 2,408,000 บาท (สองล้านสี่แสนแปดพันบาท)
ในส่วนที่มาก็คือ อบต.สะกาด ได้จัดโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านอำปึล ขนาดจำนวนไม่เกิน 50 คน โดยใช้งบฯมาจากข้อบัญญัติ งบฯประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 สถานที่ก่อสร้างบ้านอำปึล ม.15 ซึ่งแต่เดิมสถานที่ก่อสร้างคือบ้านอำปึล ม.6 ซึ่งมีการย้ายพื้นที่ก่อสร้างเนื่องจากมีการอ้างว่า สภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้าง ก็เลยได้มีการย้ายมาก่อสร้างยังสถานที่แห่งนี้ ซึ่งพอสร้างเสร็จ ผู้รับจ้างมีการส่งมอบงาน มีการตรวจรับงานจ้างถูกต้อง มีการเบิกจ่ายงบฯแล้ว ปรากฎว่าผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานเข้าเรียน ณ สถานที่แห่งนี้ และได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อ้างว่า เนื่องจากอาคารอยู่ติดแหล่งน้ำ ตามที่เราเห็นก็คืออยู่ไม่เกิน 10 เมตร ก็จะเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ผู้ปกครองมีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยเด็ก ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่ศูนย์ฯ ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา และต่อมาปี 2563 อบต.เล็งเห็นปัญหาก็เลยสร้างรั้วขึ้นมา พอสร้างรั้วเสร็จผู้ปกครองก็ไม่ส่งบุตรหลานมาอีก ต่อมาในปี 2564 ก็ได้จัดสร้างถนนคอนกรีตทางเข้าเพื่อเติมอีก แต่ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เด็กก็ไม่มาเรียน ตามสภาพที่เห็นถูกปล่อยทิ้งรกร้างตั้งแต่เปิดใช้แล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จากที่เห็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ตอนนี้ก็คือนกและสัตว์ต่างๆที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ ตนรู้สึกเสียดายโอกาสของประชาชนในพื้นที่และอีกเรื่องหนึ่งที่น่ากังวล ในการตั้งข้อสังเกตในเรื่องของการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น หรือการจัดทำโครงการที่ต้องระบุอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ว่า การจัดทำแผนต้องมาจากความต้องการของประชาชนและความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะจัดทำโครงการ นายกฯก็จะระบุโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนต่อสภาฯ เพื่อให้สมาชิกสภาท้องถิ่นพิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากทำเสร็จ กรณีนี้เป็นข้อสังเกตว่าเหตุใดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว เมื่อก่อสร้างเสร็จทำไมผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานมาเรียนที่นี่ หรือขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นหรือความต้องการของประชาชน อบต.ได้ทำถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ส่วนในเรื่องของการก่อสร้าง มีกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง หัวใจของการจัดซื้อจัดจ้างคือให้เป็นประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐสูงสุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าโปร่งใส ตรวจสอบได้
สำหรับการแก้ปัญหาเบื้องต้น ก็ได้ทำความเข้าใจกับผู้บริหาร อบต.สะกาด แล้วว่า ท่านต้องดำเนินการในการแก้ไข หากท่านเห็นว่าจะใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการก็คือเปิดการเรียนการสอนให้กับเด็กก่อนวัยเรียนได้เข้าเรียน ณ ศูนย์ฯแห่งนี้ ท่านต้องปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่และปรับภูมิทัศน์ให้เอื้อต่อการทำการเรียนการสอน หรือรับฟังความคิดเห็นแล้วสื่อสารกับกับผู้ปกครองแล้ว ยังไม่มีเด็กมาเรียน ก็ต้องพิจารณาว่าจะใช้สถานที่แห่งนี้ทำอะไรเมื่อปรับปรุงแล้ว หรือจะให้หน่วยงานอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์ อย่างที่ผู้ใหญ่บ้านเสนอขอทำเป็นศูนย์ออกกำลังกายประจำหมู่บ้าน จะได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นในวันนี้ไปก่อน
ทั้งนี้หากตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้ว พบว่าการดำเนินดังกล่าว ผู้บริหารท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือไม่ปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็จะสั่งการมาที่นายอำเภอสังขะ ซึ่งมีน่าที่กำกับดูแลการปฎิบัติราชการของ อบต.สะกาด ให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ ดำเนินการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับผู้บริหารท้องถิ่นต่อไป แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ ในกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างนั้น หากพบว่าเจ้าหน้าที่คนใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ก็จะส่งเรื่องให้กับทางผู้บริหารท้องถิ่น ดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยตามสภาพแห่งความร้ายแรง ซึ่งตามข้อมูลก็ได้รับแจ้งว่าเหตุนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 61 ซึ่งนายก อบต.เข้ามารับตำแหน่งในปัจจุบันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดขึ้นก่อนจะมารับตำแหน่ง
ทั้งนี้จากการตั้งข้อสังเกตของผู้สื่อข่าว พบว่าบริเวณสถานที่ก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดังกล่าว เป็นจุดสุดแนวเขตของพื้นที่ อบต.สะกาด และไม่เป็นแหล่งชุมชนตามที่ควรจะมีการสร้างเป็นศูนย์เด็กเล็ก แถมสภาพพื้นที่ยังติดกับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้ผลิตน้ำประปา ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลควรที่จะยกประเด็น กรณีศูนย์ฯร้างแห่งนี้ เป็นกรณีศึกษา เพื่อไม่ให้สูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ และเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกต่อไป
©2018 CK News. All rights reserved.