ตัวแทนแรงงาน ยื่น 10 ข้อเรียกร้อง ต่อ “อนุทิน" ในวันแรงงานแห่งชาติ 67


1 พ.ค. 2567, 15:46

ตัวแทนแรงงาน ยื่น 10 ข้อเรียกร้อง ต่อ “อนุทิน" ในวันแรงงานแห่งชาติ 67




วันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม.  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย เป็นประธานในการเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ67 โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานฯ  และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน 


นายอนุทิน  กล่าวว่า ว่า รัฐบาลตระหนักดีถึงการให้ความสำคัญของแรงงาน จึงได้มีความพยายามดำเนินนโยบาย สร้างเสริมคุณภาพชีวิต ให้แรงงานทุกคนมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง ผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น การเร่งรัดการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท การเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ จัดหลักสูตร up skill เพื่อแรงงานไทยในยุคดิจิทัล

โครงการฟรี Safety Service เพื่อแรงงานปลอดภัย การเร่งออกกฎกระทรวง ว่าด้วยการคุ้มครองคนทำงานบ้าน หรือการส่งเสริมการพัฒนาระบบรักษาพยาบาล SSO Healthy เพื่อความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ในสถานที่ปฏิบัติงาน และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง กระทรวงแรงงานยังได้ดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานสิทธิแรงงานไทย ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานการให้สัตยาบันต่อ “อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ” หลายฉบับ และแน่นอน ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ท่านได้นำมาเสนอในวันนี้ รัฐบาลจะรับฟัง และให้ความสำคัญในการพิจารณาขับเคลื่อนต่อไป

จากนั้น ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ ได้แถลงข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ และยื่นต่อรองนายกรัฐมนตรี  จำนวน 10 ข้อ ได้แก่ 1) รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98  2) ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง 3) ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท

4) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน 5) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1  6) ให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง

7) ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว 8) ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน” 9) ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง และ 10) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน





คำที่เกี่ยวข้อง : #วันแรงงาน  









©2018 CK News. All rights reserved.