วันที่ 24 เม.ย.2567 นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงสรุปผลการคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ที่มี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม เมื่อวานนี้ ว่า สถานการณ์ยังไม่แน่นอน มีความปั่นป่วนสูง ยังคงมีการสู้รบของฝ่ายต่อต้านและกองทัพเมียนมา โดยชายแดนไทยรวมถึงเมืองเมียวดียังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายต่อต้านและฝ่ายกองทัพเมียนมา ต้องการยึด แต่แนวโน้ม 48 ชั่วโมงที่ผ่านมาทุกอย่างดีขึ้น คนในพื้นที่จะไม่ได้ยินเสียงการปะทะกันหรือการระเบิดใดๆ ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยข่าว มีการประเมินไว้หลายสถานการณ์ โดยเฉพาะการมีผู้หนีภัยจากความไม่สงบเข้ามาฝั่งไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ท่าทีของไทยคือ 1.ไทยยึดมั่นในการรักษาอธิปไตยของ 2.ไทยไม่ให้มีการใช้ดินแดนดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศ 3.ยึดมั่นหลักมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่าย
ส่วนการสื่อสารต่างๆ จะให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งจะให้ข่าวอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ศูนย์สั่งการชายแดน จะเป็นการให้ข่าวจากพื้นที่
นอกจากนี้ นายปานปรีย์ ยังให้ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหลักด้านความมั่นคงและการข่าว ส่วนกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานด้านการทูตทั้งหลาย รวมถึงติดต่อสมาชิกอาเซียน ซึ่งได้ประสานไปยัง สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนแล้ว
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ย้ำอีกครั้งว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่การกระทบกระทั่งระหว่างไทยกับเมียนมา และไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งในการประทะ ดังนั้นทุกอย่างที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นปัญหาภายในของเมียนมาเอง ซึ่งไทยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนต่อกลุ่มคนต่างๆ โดยจะให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลเรือน หรือทหารที่ขอหนีภัยเข้ามา ซึ่งจะมีการปลดอาวุธ การเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นเครื่องแบบปกติ และให้กลับประเทศเมื่อสถานการณ์สงบ โดยการดำเนินการจะอยู่ความสมดุลระหว่างความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาชาวเมียนมาที่เข้ามาหลบภัย ก็ได้กลับไปส่วนหนึ่งแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ไม่รุนแรงมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อการค้าชายแดนบ้างในลักษณะชั่วคราว ตั้งแต่มกราคมถึงมีนาคม คาดว่าไม่เกิน 20% ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ จึงได้พิจารณาถึงแนวปฏิบัติ SOP (standard operating procedure) ในการบริหารจัดการ โดยปัจจุบันมีการเตรียมไว้ 4 ส่วนคือ 1.ขั้นตอนของการเตรียมการในภาวะปกติ 2.ขั้นตอนดำเนินการในกรณีที่ผู้มีอพยพเดินทางเข้ามาในไทยแล้ว 3.การขอรับการสนับสนุนในภาพรวมจากองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานต่างๆ 4.การประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชน ทราบพัฒนาการตลอดเวลา
หลังจากนี้ คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ จะมีการตั้งอนุกรรมการ เพื่อพิจารณารายละเอียด ซึ่งอนุกรรมการประกอบไปด้วยผู้ประสานงานหลักและหน่วยงานต่างๆที่เรียกว่า call group โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการ
ส่วนยอดผู้หนีภัยความไม่สงบ ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 650 คน โดยมีพื้นที่สำหรับช่วยเหลือรวมกว่า 50 จุด ขณะที่กองกำลังนเรศวร เตรียมพร้อมตลอดเวลา
ส่วนด่านพรมแดนแม่สอด สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 คาดว่าอีกไม่นานจะเปิดได้ จะเพราะทางเมียนมาก็มองเห็นถึงความสำคัญของการเปิดช่องทางนี้ ซึ่งเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในแถบนั้น
©2018 CK News. All rights reserved.