อัยการคดีอาญานัด"ทักษิณ"ฟังคำสั่ง อสส.ฟ้องคดีม.112  วางบัญชี 5 แสนประกันตัว


19 ก.พ. 2567, 12:24

อัยการคดีอาญานัด"ทักษิณ"ฟังคำสั่ง อสส.ฟ้องคดีม.112  วางบัญชี 5 แสนประกันตัว




วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก นายประยุทธ เพรชคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ,นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ,นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด,
และนายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8  ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่ อดีตอัยการสูงสุดเคยมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 58 ในคดีหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

นายประยุทธ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คดีวันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 8.30 น. พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดี ได้นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหา ส่งให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้รับผิดชอบดำเนินคดีนี้ โดยมีนายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา และนายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นผู้รับตัวจากพนักงานสอบสวน ด้วยคดีนี้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด 
ผ่านพนักงานสอบสวนในขณะเข้าแจ้งข้อกล่าวหาตามที่งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้เคยแถลงไปแล้ว
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้พิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแล้ว เห็นว่า คดีมีประเด็นให้สอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือที่นายทักษิณ ชินวัตร ร้องขอความเป็นธรรม อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม และมอบหมายให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรม

ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2567 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาคดีนี้ ได้รับการปล่อยตัวจากกรมราชทัณฑ์ในคดีอาญาเรื่องอื่นเนื่องจากได้รับการพักการลงโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้รับตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามหนังสืออายัดตัว ลงวันที่ 28 ส.ค. 2566 และพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันเดียวกัน ต่อมาในวันนี้พนักงานสอบสวนได้นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาส่งให้กับพนักงานอัยการ แต่เนื่องจากการสอบสวนยังไม่สิ้นกระแสความเนื่องจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าว อัยการสูงสุดจึงยังไม่อาจลงความเห็นและมีคำสั่งทางคดีได้ในขณะนี้
อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้เป็น ผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีหลักประกันและ
นัดให้มาพบพนักงานอัยการในวันที่ 10 เม.ย. 2567 เวลา 9.00 น.ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุดเเห่งนี้


นายปรีชา อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนหลักประกันที่นายทักษิณใช้ในการประกันตัว เป็นหลักทรัพย์ในสมุดบัญชีที่ได้รับการรับรองจากธนาคารมีเงินจำนวน 500,000 บาท ซึ่งทางอัยการจะอายัดบัญชีดังกล่าวไว้ส่วนเมื่อถามว่ามีเงื่อนไขในการปล่อยตัวหรือไม่ทางนายปรีชาบอกว่าสำหรับอัยการไม่มีเงื่อนไข แต่เงื่อนไขทางกรมคุมประพฤติ ที่กำหนดนั้นตนไม่สามารถตอบได้ว่านายทักษิณจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรระหว่างพักโทษ


นายปรีชา ยังเล่าถึงบรรยากาศขณะที่รับตัวนายทักษิณ บอกว่า หลังจากที่ตำรวจนำตัวมาส่ง ตนเองต้องมีการพูดคุยกับนายทักษิณ ซึ่งจากสภาพที่ตนเห็นมองว่า นายทักษิณมีอาการป่วยขั้นวิกฤต เพราะต้องนั่งรถวีลแชร์มา เพราะเดินไม่ไหว และจากการที่ได้พูดคุย นายปรีชา บอกว่านายทักษิณไม่มีเสียงพูด ดูท่าทางมีการป่วยหนัก และมีการสวมที่ดามคอมา

ส่วนเมื่อถามว่าตัวของนางสาวแพรทองทาน บุตรสาวได้เดินทางมาด้วยหรือไม่

นายปรีชาบอกว่านายทักษิณเดินทางมากับคนสนิทเพียงลูกสาวไม่ได้เดินทางมาด้วยและเมื่อถามว่านายคืออุ๋งอิ๋งหรือไม่นายปรีชาตอบว่าไม่ใช่และตนไม่รู้ว่านายประกันคือใครตนอยู่เพียงคุณสมบัติของนายประกันว่าเข้าข่ายเท่านั้นแต่ไม่รู้ว่าคือใคร โดยขั้นตอนการเซ็น รายงานตัวและเข้าพบอัยการใช้เวลาประมาณ 30 นาทีก่อนที่นายทักษิณจะกลับ


เมื่อถามว่า ว่าวันที่ 10 เม.ย.จะมีคำสั่งทางคดีหรือไม่ นายปรีชา บอกว่า วันที่ 10 เม.ย. เป็นการนัดฟังผลคำสั่งทางคดีว่าจะมีคำสั่งว่าอย่างไร ถ้าผลสอบเพิ่มกลับมาทางอัยการสูงสุดก็จะพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องหรือถ้าผลสอบเพิ่มยังไม่เเล้วเสร็จทางอัยการสำนักงานคดีอาญาก็อาจจะต้องเลื่อนนัดฟังคำสั่งออกไป ซึ่งจะต้องแจ้งให้ตัวนายทักษิณทราบในวันนั้น 
ในส่วนเรื่องการสอบสวนเพิ่มเติมคือจะมีอัยการจากสำนักงานการสอบสวนไปร่วมสอบด้วย ซึ่งเป็นการสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งอัยการสูงสุดที่มีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาหากผลสอบสวนเพิ่มมาก็จะต้องส่งอัยการสูงสุดพิจารณาทางอัยการสำนักงานคดีอาญาไม่ต้องเเนบความเห็นส่งไป คำสั่งอัยการสูงสุดถือเป็นเด็ดขาด

ซึ่งนายประยุทธ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวเพิ่มเติม ในประเด็นดังกล่าวอีกว่า สำนวนเดิมที่มีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องเป็นคำสั่งแรกตั้งแต่นายทักษิณยังไม่กลับเข้าประเทศไทย แต่เมื่อนายทักษิณ กลับเข้าประเทศไทยและ มีการแจ้งข้อกล่าวหากันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17  ม.ค.รวมถึงมีการส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ทำให้ทางคณะพนักงานสอบสวนได้มีการสอบสวนสำนวนใหม่ จึงทำให้วันที่ 10  เม.ย.นี้ ตัวนายทักษิณจะต้องมารับฟังคำสั่งด้วยตนเอง ว่าทางอัยการจะเห็นสมควรสั่งฟ้องทางคดีหรือไม่ โดยคำสั่งจะแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง 1.สั่งฟ้อง 2.ไม่สั่งฟ้อง 3.เลื่อนนัดฟังคำสั่ง ถ้าหากสำนวนที่สอบเพิ่มเติมนั้นยังไม่ครบถ้วน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรจะต้องแจ้งให้ตัวนายทักษิณทราบ

คดีนี้ถือว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักรหากวันที่ 10  เม.ย.หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องจะต้องนำตัวนายทักษิณเข้าสู่กระบวนการศาลทันที แต่หากมีคำสั่ง ไม่ฟ้องคดีดังกล่าวถือว่าสิ้นสุดในชั้นของอัยการไม่ต้องส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาเหมือนกับคดีอื่นๆเนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักรที่อัยการสูงสุดมีอำนาจสอบสวนและพิจารณาเด็ดขาด

และเมื่อถามถึงหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่นายทักษิณร้องมามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง มี10ประเด็นที่ขอให้สอบเพิ่มเติม อสส.อนุญาตทุกประเด็นหรือไม่

นายประยุทธกล่าวว่าไม่สามารถลงรายละเอียดได้

ส่วนข้อกล่าวหาจากสังคมสำหรับตัวนายทักษิณว่ามีการให้การช่วยเหลืออำนวยความสะดวกทางด้านคดีให้กับนายทักษิณหรือไม่นั้นทาง

นายประยุทธได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่าคดีนี้มีอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่อัยการสูงสุดจึงขอให้ไปดูประวัติการทำงานของอัยการสูงสุดว่ามีชื่อเสียงด้านความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ เเละมีทิศทางการทำงานตามกฎหมายและขอให้สังคมมั่นใจในการพิจารณาของอัยการสูงสุด แม้ว่าคดีดังกล่าวจะมีผู้ต้องหาเป็นบุคคลสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ





คำที่เกี่ยวข้อง : #ทักษิณ ชินวัตร  









©2018 CK News. All rights reserved.